การประชุมเสวนาเรื่อง “นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย” Patient and Personnel Safety Policy (2P Safety) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภา...

: 25 ก.พ. 62     : แพทยสภา


โครงการประชุมเสวนา
เรื่อง นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย”  Patient and Personnel Safety Policy (2P Safety) 
ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข 
วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 – 12.30 .
.................................................................................................................................

1. หลักการและเหตุผล

         เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพื่อที่จะให้ได้ผู้แทนของประชาชนที่จะมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อบริหารประเทศตลอดจนแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ของประชาชน สำหรับงานด้านการให้การบริบาลทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยมีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามลำดับจนได้รับความยกย่องไปทั่วโลก ท่ามกลางปัญหาวิกฤตทางบุคคลากร การเงิน การคลังของนโยบายการให้การรักษาพยาบาลในสามกองทุน โดยเฉพาะ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือและเสียสละของบุคลากรในสายวิชาชีพสุขภาพภาครัฐ ที่ทุ่มเทให้การบริบาลประชาชนในทรัพยากรที่จำกัด ทั้งนี้มีความพยายามในการแก้ปัญหาเชิงระบบของภาครัฐมาโดยต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืนของระบบสาธารณสุข ด้วยเหตุที่มีความก้าวหน้าของวิทยาการการรักษาพยาบาลอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ประชาชนอายุยืนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยซึ่งต้องพึ่งพาการรักษาพยาบาลมากขึ้นเป็นเท่าตัวทำให้ภาระงานของบุคลากรในภาครัฐสูงขึ้นจนเกินขีดความสามารถของหลายสถานพยาบาลก่อให้เกิดความผิดพลาดต่อผู้ป่วยได้ง่าย และเกิดปัญหากับคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่ภาระงานหนักส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานบ่อยครั้ง ในทางกลับกันภาระงานที่สูงเกินกว่ากำลังพลที่จำกัดในภาครัฐจะดูแลได้ทั่วถึง ทำให้เกิดการร้องเรียนและคดีความจากประชาชนได้ง่าย ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจกับผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐ นำไปสู่การสูญเสียของบุคลากรที่ลาออกโดยเฉพาะกรณีการเกิดการฟ้องคดีอาญา ตลอดจนปัญหาจากค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้นต่อเนื่องวิทยาการการรักษาสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ราคาสูงมากทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาลซึ่งสวนทางกับนโยบายของภาครัฐ ในการจัดให้เป็นเมดิคอลฮับ โดยใช้ทรัพยากรเดียวกัน

         ในการนี้แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร จนถึงเจ้าหน้าที่ทุกสาขา ทุกระดับที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลกว่าห้าแสนคน จึงขอนำเสนอถึงปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกในวิชาชีพสาธารณสุขและขอทราบแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคตในประเด็นว่าด้วย นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย” Patient and Personnel Safety Policy (2P Safety)

2. วัตถุประสงค์

          เพื่อรับทราบนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองด้านการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ ในกรณีของคดีความและภาระงาน

3. หัวข้อการเสวนา

          “นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย” Patient and Personnel Safety Policy (2P Safety)

4. รายนามผู้เสวนา

          พรรคชาติพัฒนา         คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

          พรรคประชาธิปัตย์       คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

          พรรคพลังประชารัฐ      คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

          พรรคเพื่อไทย             นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์

          พรรคภูมิใจไทย           คุณอนุทิน ชาญวีรกูล

          พรรคเสรีรวมไทย         พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

  ผู้ดำเนินรายการ            คุณช่อผกา วิริยานนท์

5. เป้าหมาย

          บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร จนถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ทหาร ตำรวจ และสังกัดสถานพยาบาลเอกชน ที่ลงทะเบียนเข้าฟังในห้องประชุม 300 ท่าน และผ่านการโซเซียลมีเดีย Facebook Live ของสภาวิชาชีพและสาธารณสุขไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศที่สนใจ

***หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

ผู้ประสานงาน : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา 02 -589-7700 02-589-8800

ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการประชุมเสวนา >>คลิก<<




Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต