แถลงการณ์แพทยสภา ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทุกท่านทราบ...

: 24 พ.ย 57     : Webmaster


 

แถลงการณ์แพทยสภา

 

ตามที่ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้กล่าวความเท็จเป็นเอกสาร และในสังคมออนไลน์เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองว่าคณะกรรมการแพทยสภาได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมขึ้นใหม่แล้ว โดยได้มีการแก้ไขให้บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภา และแก้ไขให้มีคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มีบุคคลภายนอกพิจารณาลงโทษทางจริยธรรมแก่แพทย์ การกล่าวเท็จนี้ได้กระทำมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอเรียนความจริงให้ทราบดังนี้คือ

1. คณะกรรมการแพทยสภา (มี 52 คน) ได้มีมติให้แพทย์ที่เป็นนักกฎหมายยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. .... เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากหลายองค์กรของรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขพระราชบัญญัติของเรา ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้เคยมีบุคคลภายนอกพยายามกระทำเกือบสำเร็จมาแล้ว

2.  ในร่างที่เตรียมเผื่อไว้นั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ตามข้อบังคับแพทยสภาที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นคณะกรรมการควบคุมฯ โดยมีองค์ประกอบที่มีกรรมการแพทยสภาเป็นเสียงส่วนใหญ่เหมือนเดิม และมีอำนาจหน้าที่เท่าเดิมคือกลั่นกรองคดีที่คณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรม (ที่เป็นแพทย์ทั้งหมด) พิจารณาแล้วส่งมาให้

3.  คณะกรรมการควบคุม (ชื่อเดิมคือกลั่นกรอง) มีบุคคลภายนอกคือนักกฎหมาย 4 คน สื่อมวลชน 1 คน นักสังคม 1 คน โดยกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาหลักคือกรรมการแพทยสภา (แพทย์ทั้งหมด) โดยกรรมการไม่ใช่แพทย์จะทำหน้าที่เป็นสักขีพยาน ให้มุมมองของคนที่มิใช่แพทย์ และให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้น

4.  คณะกรรมการควบคุม (ชื่อเดิมคือกลั่นกรอง) จะทำหน้าที่กลั่นกรองประเด็นทางกฎหมายให้สมบูรณ์ (เพื่อมิให้มีปัญหาในศาลปกครอง) แล้วต้องส่งให้คณะกรรมการแพทยสภาซึ่งเป็นแพทย์ทั้งหมดในร่างใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น (ปัจจุบันมี 52 คน แต่วาระต่อไปจะมี 56 คน) เป็นผู้พิจารณาและตัดสินชี้ขาด

5.  ในการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมฉบับนี้ได้มีการเพิ่มเติมในส่วนสำคัญที่เป็นประโยชน์มากที่สุดต่อแพทย์ถึง 2 เรื่อง คือ

        5.1  ให้แพทย์หลุดพ้นจากการถูกฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค

        5.2  ให้แพทย์ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานและจริยธรรมพ้นจากความรับผิดชอบทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

6.  ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมฉบับปัจจุบันอนุกรรมการสอบสวน อนุกรรมการจริยธรรม และกรรมการแพทยสภาก็เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีสิทธิถูกฟ้องคดีอาญาอยู่แล้วในร่างใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น

7.  เมื่อคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมได้ยกร่างเสร็จแล้ว จึงได้ส่งให้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติเด็ดขาดไปแล้วว่าจะไม่มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมในขณะนี้อย่างแน่นอน หากจะเสนอจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในหมู่แพทย์ก่อน ยกเว้นเกิดกรณีฉุกเฉินที่มีบุคคลภายนอกนำเสนอดั่งที่เคยมามาแล้ว เราก็จะต้องมีร่างที่เหมาะสมกว่าตามประกบ

จึงเรียนมาให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทุกท่านทราบ

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์   โล่ห์เลขา

นายกแพทยสภา

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต