แพทยสภา ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ - สสจ.ปทุมธานี - สคบ. แถลงข่าวกรณีสถานพยาบาลเสริมจมูก จนคนไข้เสียชีวิต จังหวัดปทุมธานี...

: 16 มิ.ย. 66     : แพทยสภา


แพทยสภา ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ -  สสจ.ปทุมธานี - สคบ.
แถลงข่าวกรณีสถานพยาบาลเสริมจมูกจนคนไข้เสียชีวิต
จังหวัดปทุมธานี
.................
 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 10.30 น.  ห้องประชุมชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. , นพ.อภิชน จีนเสวก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี , ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ นายมานะ บุญส่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวประเด็นคลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง จ. ปทุมธานี ผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขจมูกให้ผู้ป่วย โดยมีการดมยาสลบ จากนั้นผู้ป่วยก็เสียชีวิตภายในเวลาต่อมา





นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับข้อมูลเหตุผู้เสียชีวิตที่คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี กรม สบส.จึงได้ประสานงานกับ สสจ.ปทุมธานี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สสจ.ปทุมธานี ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของคลินิกที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งพบว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น. โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับคลินิกว่า ผู้เสียชีวิต ได้นัดมาทำศัลยกรรมแก้ไขจมูกที่คลินิก ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใช้วิธีดมยาสลบ ระหว่างทำการผ่าตัด ผู้ป่วยเริ่มแสดงสัญญาณชีพผิดปกติ และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทางคลินิกจึงได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์  เนื่องจากเกิดการตายผิดธรรมชาติ พร้อมส่งร่างผู้เสียชีวิตไปชันสูตรเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยหลังจากได้บันทึกข้อชี้แจงแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของคลินิกว่ามีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้หรือไม่ โดยเบื้องต้นพบการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสถานพยาบาล ดังนี้  1)มีการแสดงเวลาทำการสถานพยาบาล ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต 2) คลินิกไม่แสดงป้ายสอบถามอัตราค่ารักษาพยาบาล และไม่แสดงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย 3)เวชระเบียน ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด 4)ไม่มีที่วัดส่วนสูง 5)ไม่มีอุปกรณ์นับเม็ดยา และฉลากยาแสดงข้อมูลไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 6)ตู้เย็นแช่ยาไม่มีที่วัดอุณหภูมิยา 7)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาล 8)แพทย์ผู้ให้บริการมิได้ยื่นเรื่องแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล และ 9)มีการต่อเติมอาคารเพื่อให้บริการห้องผ่าตัดโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งข้อมูลที่ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อการเสียชีวิตของหญิงสาวรายดังกล่าว



ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า  สำหรับ ความผิดของคลินิกดังกล่าว ในเบื้องต้นจะมีการดำเนินการตามข้อหาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1)ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2)ไม่จัดให้มีและรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3)ไม่ควบคุมและดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสมแก่การเป็นสถานพยาบาล ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 4)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาลจากผู้อนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการโฆษณาหรือประกาศ ทั้งนี้ จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว 5)ต่อเติมอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 6)ในส่วนห้องผ่าตัดที่มีการต่อเติมขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้ป่วยโดยมิได้ขออนุญาตนั้น มีความผิดตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเบื้องต้น สสจ.ปทุมธานีได้มีการออกคำสั่งปิดคลินิกดังกล่าว เป็นการชั่วคราว 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามมาตรฐานภายในระยะเวลากำหนด  หากคลินิกไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็อาจจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลได้



ด้าน ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ในส่วนแพทยสภานั้น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่ภายใต้ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรม พ.ศ. 2565 
 ข้อ 4. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม  
 ข้อ 8.  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่ฝ่าฝืน กฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
 ข้อ 10 .ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ 
 หากแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กระทำผิดตามกฎหมาย พ.รบ.สถานพยาบาลแล้วจะผิดข้อบังคับแพทยสภาด้วย ในเรื่องของการดมยานั้น แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 98 /2565 เรื่องแนวทางการให้ยาสงบประสาท (Sedative Drug ) ของแพทย์ในการทำหัตถการเกี่ยวกับการเสริมสวย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิกลักษณะดังกล่าวต้องปฏิบัติตามประกาศของแพทยสภานี้ หากแพทย์มีการละเมิดตามข้อบังคับแพทยสภา จะมีความผิด ต้องมีการพิจารณาชี้ขาดโทษอย่างใดอย่าหนึ่งมี 5 ขั้น คือ 1. ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ 2. ว่ากล่าวตักเตือน 3. ภาคทัณฑ์ 4. พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 5. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม กรณีนี้แพทยสภาต้องรอให้ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโทษของแพทยสภาต่อไป







ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเวียนถึง สสจ.ทั่วประเทศ ให้มีการตรวจสอบสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) ในพื้นที่ว่ามีการลักลอบให้บริการห้องผ่าตัดโดยมิได้ขออนุญาตหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอันตรายต่อชีวิตของผู้รับบริการดังกรณีนี้ และหากประชาชนพบเห็นหรือทราบเบาะแสการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล คลินิก หรือพบการใช้หมอเถื่อนมาให้บริการ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือ สสจ. ในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ เพื่อเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต