แพทยสภา ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกแพทยสภาที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2555 ทั้ง 3 ท่าน...

: 28 ม.ค. 56     : แพทยสภา


 

แพทยสภา ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกแพทยสภาที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2555 ทั้ง 3 ท่าน

1. นพ.ไพโรจน์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.รพ.ปากคาด จ.บึงกาฬ

2. นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ รอง ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

3. นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.รพ.มายอ จ.ปัตตานี      

      

       วันที่24 ม.ค.2556 ที่ รร.เอเชีย แอร์พอร์ท รังสิต มีพิธีมอบรางวัล “แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2555”ซึ่งเป็นการมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความอดทน ตั้งใจ และเสียสละ ในเขตเสี่ยงภัยและทุรกันดาร โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นประธานในการมอบรางวัล ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2555 ประกอบด้วย นพ.ไพโรจน์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.รพ.ปากคาด จ.บึงกาฬ , นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ รอง ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และนพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.รพ.มายอ จ.ปัตตานี      ทั้งนี้ นพ.วิชัย กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบท และมูลนิธิแพทย์ชนบทได้จัดตั้งรางวัลดังกล่าวขึ้น เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศไทย การให้รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น คือ กลไกหนึ่งเพื่อเป็นกำลังใจให้แพทย์ที่มุ่งมั่นทำความดีเพื่อชาวชนบท มีกำลังใจที่จะทำงานเพื่ออุดมการณ์นี้ต่อไปให้นานที่สุด

                 1. นพ.ไพโรจน์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.รพ.ปากคาด จ.บึงกาฬ อายุ 46 ปี จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำงานที่ รพ.ปากคาดมานานเกือบ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน ผลงานที่สำคัญคือ นำโรงพยาบาลผ่านการรับรอง 5 ส. ประเภทดีเด่น 5 ดาว จากสถาบันพัฒนาคุณภาพขั้นพื้นฐานร่วมกับสถาบันจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อการเพิ่มผลผลิตเป็นโรงพยาบาลแรกในจังหวัดหนองคาย /นำโรงพยาบาลผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาลและการสร้างเสริมสุขภาพ และในปี 2552 - 2553 โรงพยาบาลชนะเลิศการพัฒนาคุณภาพระบบยาของ จ.หนองคาย 

                   นพ.ไพโรจน์ฯกล่าวว่า เคยตั้งใจทำงานเป็นแพทย์ชนบทที่รพ.ปากคาด เพียง 1 ปี เพื่อให้มีประสบการณ์ก่อนที่จะไปศึกษาต่อเป็นอาจารย์ แต่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ก็ยังไม่ได้ย้ายไปไหน เพราะด้วยความรู้สึกชอบที่จะอยู่ทำงานในชนบทและได้ทำงานกับเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลที่อยู่กันแบบพี่น้องที่

คอยดูแลห่วงใยกันและรางวัลแพทย์ชนบทนี้ไม่ใช่ของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นของบุคลากรที่ รพ.ปากคาดทุกคน สำหรับแพทย์ชนบทคนอื่น ๆ ที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่เพราะพวกเราชาวแพทย์ชนบทมีโอกาสมากกว่าในการเข้าถึงประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย อยากให้ทุกคนมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อช่วยเหลือคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ

                 2. นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ รอง ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์  จ.กาฬสินธุ์ อายุ 37 ปี จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปี 2553 ได้รับรางวัลคนดีศรีสาธารณสุขระดับจังหวัด สาธารณสุขเขต 12 เป็นข้าราชการต้นแบบคนดีของแผ่นดิน จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) นพ. สิริชัยฯกล่าวว่า จากการทำงานในช่วงปีแรกๆ แล้วรู้สึกว่าไม่พบความสุขในการทำงาน ผู้ป่วย และแพทย์เหมือนอยู่คนละข้าง ไม่มีความเข้าใจกัน จึงไปเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และจัดตั้งทีมงานออกรักษาและให้ความรู้ และจะนำเวชศาสตร์ครอบครัวกลับคืนสู่ระบบสุขภาพ เพราะระบบสุขภาพที่เกิดต่อไปจะไม่เพียงมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องนำมาซึ่งความสุขแก่ทุกฝ่ายด้วย โดยงานแรกที่นำกระบวนการนี้ไปใช้ คือ การดูแลผู้พิการและผู้ป่วยเรื้อรัง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งจากระบบ ทั้งที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

                 ปัญหาและอุปสรรคในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันคือ ปัญหาการขาด แคลนบุคลากร ซึ่งโรงพยาบาลต้องใช้หมอ 1 คน รักษาคนไข้ถึง 1 หมื่นคน หากเทียบกับ กทม.แล้วใช้หมอ 1 คน รักษาคนไข้ 500 คน ถือว่าแพทย์ชนบทต้องรับภาระรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลก็พยาบาลรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

                 3. นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.รพ.มายอ จ.ปัตตานี อายุ 43 ปีจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปริญญาโทรัฐประศาสสศาสตรมหาบัณฑิตและศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการบริหารและพัฒนาสังคมไทย (เกียรตินิยมอันดับ 1 ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีผลงานการรักษาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ปี 2551 รพ.มายอ ได้รับรางวัลศูนย์เยียวยาดีเด่นจากกรมสุขภาพจิต และ รพ.มายอได้รับรางวัลองค์กรดีเด่นด้านการรักษาสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นพ. นิรันดร์ ฯกล่าวว่า พื้นที่ที่ตนทำงานเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับสีแดง มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และปัญหาความยากจนสูง โดยได้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาตลอด 18 ปี ไม่เคยลาศึกษาต่อนอกพื้นที่ และจะเน้นในเรื่องสุขภาพจิตชุมชน ทั้งด้านตรวจรักษาและกิจกรรมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง จนทำให้ รพ.มายอ ได้รับรางวัลศูนย์เยียวยาดีเด่น จากกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ตลอดระยะเวลาการทำงานจะสำนึกเสมอว่าไม่ได้เพียงปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการรักษา แต่ต้องสร้างความสงบสุขด้วย แม้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อใด แต่ตนคิดเสมอว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงบมาก่อน เหตุการณ์ความผิดปกติเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง ที่สำคัญ ในเรื่องของความแตกต่างหากเราเข้าใจด้วยหัวใจแล้วจะพบว่ามีแค่ภาษา และความเชื่อเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่ อยู่ด้วยใจ สิ่งที่อยากเห็นรัฐแก้ปัญหาในภาคใต้ คือการขยายความดี ความสงบในพื้นที่มากกว่าขยายความรุนแรง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้คนในพื้นที่อยู่ได้ และศรัทธาในการร่วมสร้างความสงบสุข

                 อุปสรรคของการเป็นบุคลากรทางแพทย์ในการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือความกลัวของเจ้าหน้าที่ซึ่งบางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการลงไปเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ แต่พยายามสร้างวิธีคิดให้เจ้าหน้าที่ไม่เกิดความหวาดกลัว ปัญหาที่สำคัญของโรงพยาบาลคือการขาดแคลนแพทย์และทันตแพทย์ รางวัลนี้ผมดีใจและภูมิใจ ฝากที่ได้รับ ฝากบอกหมอคนอื่น ๆ ที่ทำงานในพื้นที่ชนบทว่า ผมรู้สึกได้ถึงคุณค่าที่พวกเขาทำอยู่ งานที่หมอชนบททำส่วนเป็นงานที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตประชาชนที่อยู่ห่างไกล ขอเป็นกำลังในให้เพื่อนหมอทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต