คำแนะนำภาษีคณะบุคคลใหม่ 2558 จากแพทยสภา
: 19 ก.พ. 58 : คณะทำงานเลขาธิการแพทยสภา
ตามที่มีการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เมื่อเดือนธันวาคม 2557 และมีประกาศและ คำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรในเดือนมกราคม 2558 ตามมา อาจทำให้เกิดความสับสนในข้อมูลใหม่ และเกิดคำถามขึ้นมากมาย ไม่แน่ใจในแนวทางปฏิบัติในการเสียภาษี ของคณะบุคคลและของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล จากประกาศและคำสั่งกรมสรรพากรที่แก้ไขใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยื่นแบบภาษีในงวดที่ 2 ภายใน 31 มีนาคม 2558 และภายหลังจากนั้นจะต้องทำอย่างไร
อนุกรรมการบริหารแพทยสภาได้เรียนเชิญคุณอัควิทย์ เจริญพานิช นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากกรมสรรพากรมาให้ข้อมูล ชี้แจง ตอบคำถามอย่างละเอียด ซึ่งคณะทำงานเลขาธิการแพทยสภาสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. ประกาศนี้เริ่มมีผลบังคับใช้กับรายได้ที่เข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ที่จะเสียภาษีภายในวันที่ 31มีนาคม 2558 เป็นต้นไป โดยแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด.90)ที่ต้องยื่นเสียภาษีดังกล่าว ต้องแนบรายงานบัญชีรายรับรายจ่ายตามที่กรมสรรพากรกำหนดในปีนี้(2558)ไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.90 ที่ยื่นด้วย และ ปีต่อไป (2559)ก็ต้องแนบรายงานบัญชีรายรับรายจ่ายทุกปี การคิดคำนวณภาษี และวิธีการ ที่จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นเงินได้ของรอบปีภาษี2557 ยังเหมือนเดิมทุกประการ และคณะบุคคลที่ผ่านมายังใช้ได้ตามปกติ โดยให้เพิ่มประเด็นการ กรอกรายงานบัญชี รายรับ รายจ่ายและยอดยกไปในปีภาษีถัดไปตามประกาศกรมสรรพากรกำหนด.
คณะบุคคลที่จะยื่นแบบภาษีให้สำเนาแบบที่อยู่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ในปีนี้ (ก่อน 31 มีนาคม2558) ในข้อที่ 5 ให้กรอกเฉพาะในรายการช่องที่ 5 (ยอดเงินคงเหลือยกไปปีภาษีถัดไปหลังแบ่งแล้วหมดไป) ให้กรอกเป็น 0 บาท ตามจริง
วัตถุประสงค์ในการจัดทำรายงานดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลสำหรับเงินคงเหลือภายหลังจากการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นกำไรจากคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลในปีภาษี 2557 ซึ่งต้องยกไปใช้สำหรับปีภาษี 2558 อันเป็นปีภาษีเริ่มต้นของการเสียภาษีจากการแบ่งผลกำไรจากจากคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล
2. ส่วนแบ่งของกำไรที่จะแบ่งจากคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีการแบ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป บุคคลที่ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร จะต้องนำส่วนแบ่งของกำไรมารวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ที่มีสำหรับปีภาษีนั้นทั้งปี เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกการยกเว้นรายได้จากส่วนแบ่งกำไร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558
3. คำแนะนำคือควรยกเลิกการใช้คณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเป็นหน่วยภาษีต่อไปเนื่องจาก
3.1 คณะบุคคลจะมีการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานว่าทำงานร่วมกันอย่างไร จริงหรือไม่ จากระบบสรรพากร
3.2 เมื่อแบ่งรายได้แล้วต้องจ่ายภาษีซ้ำซ้อน เพราะหลังจากเสียภาษีคณะบุคคลแล้ว ยอดเงินได้ในส่วนที่แบ่งแล้วต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา40(8) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระเบียบให้หักค่าใช้จ่ายใดๆได้
3.3 กรมสรรพากรได้นิยามคำว่า” คณะบุคคล” ว่า คณะบุคคลต้องเป็นกิจการที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งหากเป็นกิจการที่มีการแบ่งผลกำไรจะหมายถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งเสียภาษีซ้ำซ้อนแบบเดียวกับคณะบุคคลเช่นกันจึงไม่ควรใช้ทั้งคู่
4. การเสียภาษีรายได้ของแพทย์ให้ใช้ตามมาตรา 40 (6) ได้ทั้ง คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนรวมกัน เช่นเดียวกับปีภาษีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีเพียงการแก้ไขกฎหมายเรื่องเดียว คือ การยกเลิกการยกเว้นรายได้จากส่วนแบ่งกำไร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558
5. คลินิก เงินรายได้ของคลินิกที่ต้องเสียตามรายรับจริง ถ้าเดิมเป็นคณะบุคคลที่ทำในคลินิกให้แยกรายได้เป็นรายบุคคลตามจริงไปเลย ทั้งนี้ ผลรวมให้เท่ากับรายรับจริงของคลินิก (ใช้ปีภาษี 2558 ที่จ่ายในปี 2559 เป็นต้นไป) ซึ่งรายได้ที่แบ่งไปตามบุคคลนั้น ให้แสดงบัญชีรายได้ไว้ด้วย
6. คณะบุคคลควรทำแจ้งยกเลิกหน่วยภาษีคณะบุคคล แต่หากไม่ใช้เป็นหน่วยภาษีคณะบุคคลต่อไป แม้ไม่ยกเลิกก็จะมีผลเท่ากับยกเลิกในทางปฏิบัติ
7. กรณีคณะบุคคลจะเลือกจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นหน่วยภาษี อัตราคงที่ปัจจุบันมีอัตราภาษี 2 อัตราคือ 20%ของผลกำไรสุทธิ(กรณีที่ไม่ใช่ sme) และอัตราขั้นบันได 2 ขั้น คือ 15 % และ 20% ของกำไรสุทธิ(กรณีเป็น sme) จะคุ้มค่าเมื่อต้องมีรายได้ต่อปีจำนวนมาก หรือแสดงได้ว่ามีรายจ่ายที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มาก (ต้นทุน) ซึ่งต้องเปรียบเทียบกับการยื่นภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า 5-35%
8. ตามที่มีข้อกังวลว่าบริษัทยาขอเลข 13 หลักของแพทย์เพื่อเป็นหลักฐานในการซื้อยานั้น เป็นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทยาซึ่งบริษัทยาจะต้องถูกบังคับให้กรอกเลข 13 หลัก เฉพาะผู้ซื้อที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน vat จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีบุคคลธรรมดาของแพทย์ เว้นแต่กรณีที่มีกิจการที่เป็น vat เช่น เป็นผู้ประกอบการสถานพยาบาล หรือศูนย์เอ็กซ์เรย์ หรือสถานพยาบาลฟอกไต เป็นต้น