แถลงข่าว คัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ จากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. .......

: 06 ส.ค. 58     : แพทยสภา


  

แพทยสภาแถลงข่าว คัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....

           เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ได้จัดให้มีการแถลงข่าว และแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..... ที่ถูกเสนอโดย สปช.  นำโดยศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา และคณะกรรมการบริหารแพทยสภา ดังนี้

          “ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ สปช. นำเสนอได้จริง และยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมาอย่างมากมาย อาทิเช่น

(๑)   ชักนำก่อให้เกิดกระแสการฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมากมาย บุคลากรที่ทำงานอย่างหนักเพื่อสนองต่อนโยบายด้านการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอย่างเกินกำลัง     โดยมุ่งหวังเพียงแต่ให้ผู้ป่วยหายจากโรค จะเปลี่ยนทัศนคติไปเป็นการทำงานเพื่อป้องกันมิให้ตนเองถูกจับผิดและถูกฟ้องร้องตามที่เป็นไปในเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง

(๒)   เป็นการสร้างภาระงบประมาณของชาติอย่างใหญ่หลวง เพราะกองทุนนี้จะมีการใช้เงินจำนวนมหาศาลในเวลาไม่นาน โดยเงินในกองทุนเป็นก้อนเดียวกับที่รัฐบาลต้องนำไปใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย นั่นหมายความว่ากองทุนจะดูดเงินที่ใช้ช่วยชีวิตและรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพออกไป ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สมเด็จพระราชบิดาได้วางแบบแผนไว้อย่างดีงาม ถูกกระทบอย่างหนักในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองเช่นกันในที่สุด

 

        ทั้งนี้แพทยสภาได้เสนอทางออกให้กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน สนช.ประธาน สปช. ประธานกมธ.สธ. ของ สนช.และ สปช. เป็นหนังสือไปแล้วความโดยย่อคือ  “ใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในมาตรา ๔๑ ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้ง ๓ กองทุน (ซึ่งปัจจุบันนี้ ทางสนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ผ่านหลักการช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว)  วิธีดังกล่าวนอกจากจะเยียวยาผู้ป่วยได้อย่างเป็นธรรมแล้ว ยังไม่สร้างความขัดแย้งใด ๆ ให้เกิดขึ้นใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน อีกทั้งผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ยังสามารถปฏิบัติงานตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้โดยไม่ต้องวิตกกับการทำงาน เพราะภายหลังได้รับการช่วยเหลือ การฟ้องร้องจะถือเป็นที่สิ้นสุดทันที และวิธีดังกล่าวยังเป็นการลดภาระงบประมาณของชาติดังที่เราทราบกันดีว่า รัฐมีความจำเป็นต้องปรับปรุงการใช้จ่ายเงินภาษีให้อยู่ในกรอบงบประมาณที่มีธรรมาภิบาล (การใช้จ่ายเงินนอกเหนือการตรวจสอบของ สสส. เป็นต้น)

          วันนี้แพทยสภาจึงแถลงข่าวยืนยันจุดยืนการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยเสนอขอแก้ไขมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติช่วยเหลือผู้ป่วยแทน และแพทยสภาขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่ว่าด้วยการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เพราะเป็นการตั้งสำนักงานใหม่ที่สิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น หากจะมีการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐควรจัดให้มีคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

************************************************



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต