แพทยสภา จัดงานครบรอบ 47 ปี มอบผลงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าให้ รมว.สธ. แก้ปัญหาวงการแพทย์ไทยด้วยธรรมาภิบาล...

: 09 ต.ค. 58     : แพทยสภา


แพทยสภา จัดงานครบรอบ 47 ปี ในวันสถาปนา 9 ตุลาคม 2558 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสภานายกพิเศษแพทยสภา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ 47 ปีแพทยสภา บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางระบบสาธารณสุขไทยในทศวรรษหน้า”พร้อมรับผลงานวิจัย 10 เรื่องจากสถาบันพระปกเกล้า และ ฯพณฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง“ พระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาลและวงการแพทย์ไทย”

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ถือเป็นวันครบรอบสถาปนา 47 ปีของแพทยสภา ซึ่งกำเนิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 โดยมีวัตถุประสงค์ของแพทยสภา คือ ดูแลควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรม ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย ความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิก ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุข และเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย งานของแพทยสภาที่ได้ดำเนินการมาตลอด 47 ปีนั้นมีเป็นไปเพื่อวางรากฐานวิชาการแพทย์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ตามแนวทางพระราชดำรัสของพระราชบิดา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ การเกิดผู้เชี่ยวชาญระดับสูงสาขาใหม่ๆ การพัฒนาของกองทุนการรักษาพยาบาล ตลอดจนสิทธิของภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้นบนความขาดแคลนของระบบสาธารณสุขของรัฐ ตลอดจนกฎหมายใหม่ที่ผลกระทบต่อวงการแพทย์ ซึ่งแพทยสภาในฐานะองค์กรหลักที่ดูแลทางการแพทย์จำเป็นต้องปรับตัวตามตลอดเวลา และต้องขยายพันธกิจทุก ๆด้านโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

พันธกิจของแพทยสภามีมากมายเพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์มักต้องมีแพทยสภาเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ แพทยสภา สามารถขับเคลื่อนตามภาระงานทั้ง 9 ด้านได้และสานต่อกันในแพทย์ภาครัฐทั้ง 5 กระทรวงและภาคเอกชนได้เป็นเพราะมีกรรมการผู้เสียสละเข้ามาปฏิบัติงานให้กับแพทยสภา สมดังคำขวัญแพทยสภาที่ว่า “แพทยสภายุคใหม่ ยกคุณภาพชีวิตแพทย์ไทย โปร่งใส ใส่ใจประชาชน” ซึ่งงานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีตลอดมา ในโอกาสครบรอบ 47 ปี นี้แพทยสภาจึงจะขอมอบเข็มเกียรติคุณ เพื่อตอบแทนให้แก่คณะกรรมการแพทยสภาและผู้ทรงคุณวุฒิ

 

นายกแพทยสภา กล่าวต่อว่า จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานให้กับคณะกรรมการแพทยสภาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาวงการแพทย์ว่า ให้ “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” เป็นที่มาของความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าในการจัดหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงตามหลักคิดที่ว่า แนวทางในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ในยุคต่อไปต้องเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส บนพื้นฐานคุณธรรมการมีธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ซึ่งเกิดขึ้นพัฒนาและจัดการศึกษามาจนถึงรุ่นที่ 4 ในวันนี้โดยจะมีการเสนอผลงานวิจัยที่ ได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้า 

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ได้เกิดธรณีพิบัติภัยครั้งร้าย แรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเนปาล เหตุการณ์ นี้ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากแพทยสภาจึงได้ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังแพทยสภาเนปาล และจัดตั้งโครงการแพทย์อาสาแพทยสภาโดยรับสมัครแพทย์ผู้มีจิตอาสาจากทั่วประเทศได้จำนวน 798 คน ผ่านทางเว็บไซต์และจัดทีมไปลงพื้นที่ร่วมกับ มหาเถรสมาคม พระธรรมทูตสายประเทศอินเดียเนปาล (ท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศน์) นำแพทย์อาสาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ณ ประเทศเนปาล ผ่านเครือข่ายวัดไทยที่ได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ณ วัดวิศวะสันติวิหาร นครกาฐมาณฑุ ในโครงการชื่อ #‎HANDS FOR NEPAL ระหว่างวันที่ 2 พ.ค. 2558 – 5 มิ.ย. 2558เพื่อช่วยเหลือชาวเนปาลที่ได้รับอุบัติภัย ทีมแพทย์อาสาแพทยสภา เป็นทีมแพทย์ที่เกิดจากอาสาสมัครจิตอาสาทุกคน ทุกคนต้องจัดการค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในชีวิตในพื้นที่ปฏิบัติงานด้วยตนเองทั้งหมด เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ถูกบริจาคผ่านมาทางองค์กรได้เข้าถึงไปสู่มือของผู้ประสบภัยสมตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาคเงินทุกประการได้ตรวจรักษาผู้ป่วยจำนวนหลายพันรายเป็นชื่อเสียงของวงการแพทย์ไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดให้มีการมอบเกียรติบัตรแก่แพทย์อาสาแพทยสภา ในโอกาสอันสำคัญนี้ด้วย

 

เนื่องในปีนี้เป็นวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา 5รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แพทยสภา ได้ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.3) สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดกาญจนบุรี จัดโครง การหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 โดยมีผู้ป่วยเข้ามาตรวจรักษา จำนวน 6,090 คนซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของแพทย์อาสาทุกท่านที่เข้าร่วมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ 

 

ไฮไลท์ที่สำคัญคือผลงานวิจัยการแก้ปัญหาวงการแพทย์ไทย ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.3) ได้คิดรวบรวมปัญหาและนำมาวิจัยจนสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีและได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้า ในวันนี้จะนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทั้ง 10 หัวข้อวิจัย เพื่อเสนอแนวทางแก้ไชปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำเสนอแนะผ่านแพทยสภาไปยังรัฐบาลต่อไป จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของแพทยสภาในวาระ 47 ปี

 

พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง เปิดเผยถึงผลงานวิจัยที่นำมาแถลงผลในครั้งนี้เป็นงานที่ได้รับการรับรองจากสถาบันพระปกเกล้าแล้วจำนวน 10หัวข้อเรื่อง 

  1. Model การใช้ทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง
     
  2. การเตรียมตัวของระบบทางการแพทย์และ สาธารณสุขทั้งระบบ กับสังคมผู้สูงวัยใน 5 ปีข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
     
  3. การพัฒนาต้นทุนมนุษย์ในเด็กและเยาวชนสู่สังคมที่ดี
     
  4. กลไกคุ้มครองประชาชนและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ในการรับบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ กรณีศึกษาการใช้เทคโนโลยี การรักษาด้วยเซลล์ต้นกําเนิด (stem cells)
     
  5. MEDICAL HUB: กรณีศึกษา การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ สมุนไพรนานาชาติ อย่างมีธรรมาภิบาล
     
  6. การวิเคราะห์ผลการบริหารงบประมาณของ สปสช. ภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของสถานพยาบาล และทิศทางที่เหมาะสมตามหลักการธรรมาภิบาล
     
  7. การใช้หลักธรรมาภิบาลในการพัฒนาระบบและนโยบาย การเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน สําหรับระบบสาธารณสุขของประเทศ
     
  8. การศึกษาเปรียบเทียบการให้บริการผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม
     
  9. บทบาทของโรงพยาบาลและสถาบันเอกชนในกระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษาหลังปริญญาตามหลักธรรมาภิบาล
     
  10. โครงสร้างและกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อคุ้มครองประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพตามหลักธรรมาภิบาล
     

 ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งมอบให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะ สภานายพิเศษแพทยสภา ดำเนินการต่อไป

 

ดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม :: 

เข้าชมประมวลภาพกิจกรรม "๔๗ปี แพทยสภา" :: 



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต