"เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน" บทสัมภาษณ์จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ โดย อุศนา สุวรรณวงค์ ถึงปากคำของผู้เขียนหนังสือที่ได้รับรางวัลชมนาดครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นหนังสือที่ถอดจากประสบการณ์ชีวิต 4 ปี ในระหว่างการถ...

: 10 เม.ย. 59     : บทสัมภาษณ์จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ โดย อุศนา สุวรรณวงค์ http://bit.ly/1UQfxRk


พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร หรือ "หมอเซียง" สวมสองบทบาทในเวลานี้


พญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร หรือ หมอเซียง
Image: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438667949

หนึ่ง ในฐานะแพทย์และประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลแม่จัน สอง นักเขียนใหม่เอี่ยม จากเวทีรางวัลชมนาดครั้งที่ 4 จากผลงานการเขียนสารคดีเล่มแรก "เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน"ที่ถอดจากประสบการณ์ชีวิต 4 ปี ในระหว่างการถูกฟ้องคดีอาญา ในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและตั้งใจทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ปี 2550 จากการเป็นแพทย์ทำคลอดของคนไข้คนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในวันที่มาคลอดลูก

ระหว่างการต่อสู้คดี 3 ปี เธอเขียนไดอารี่ชีวิต เขียนเพื่อยืนยันความสัตย์ตรงในวิชาชีพที่เธอบอกว่า ทำสุดกำลังแล้ว เขียนเพื่อระบายความที่ตกต่ำย่ำแย่ที่ถาโถม เขียนถึงพายุลูกที่สองที่ซัดเข้ามาขณะที่ลูกแรกยังไม่จางหาย ระหว่างวิชาชีพของเธอถูกสั่นคลอนด้วยคำว่า "ฆาตกร" ครอบครัวก็ต้องแตกแยกหย่าร้าง กระทั่ง พายุสงบถือค่อยๆ ยืนขึ้น รวบีรวมเรียบเรียงเรื่องเล่าจากไดอารี่มาเป็นหนังสือเล่มแรกของชีวิตเล่มนี้

"หมอเซียง" เป็นคนแม่จันโดยกำเนิด มีความตั้งใจจะเป็นหมออย่างที่แม่ของเธอต้องการ หลังจากร่ำเรียนมา เธอมาประจำที่โรงพยาบาลแม่จัน โรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียวในอำเภอนี้ เธอได้อยู่ในวิชาชีพที่รักและอยู่ในบ้านเกิดที่คุ้นเคย กระทั่งเรื่องไม่คาดหมายเกิดขึ้น และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา หรือคำที่ชาวบ้านแม่จันเคยเรียกเธอว่า "ฆาตกร"

"หมอเซียง" บอกเล่าเรื่องราวหลายๆ ฐานะ ในบทสัมภาษณ์หลังวันที่เธอได้ขึ้นเวทีไปรับรางวัลชมนาดไปหมาดๆ เล่าทั้งในฐานะคนที่เป็นแพทย์ นักเขียน แม่ แม่หม้าย และที่หนักหน่วงที่สุดคืออดีตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร

เหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องคืออะไร

เมษายน ปี 2550 ผู้ตายมาคลอดลูกด้วยภาวะปกติ ระหว่างคลอดเกิดน้ำคร่ำหลุดในกระแสเลือด และปกติภาวะน้ำคร่ำหลุดในกระแสเลือด เป็นภาวะที่อันตราย ที่ไม่เลือกว่าจะเกิดกับใคร บอกไม่ได้จะเกิดกับใคร ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่อัตรา 1 ต่อ 80,000 คน และจะเกิดเมื่อผ่านกระบวนการการคลอดและน้ำคร่ำหลุด ไม่ว่าจะผ่าคลอด คลอดปกติ หรือขูดมดลูกก็สามารถเป็นได้หมด สรุปคือถ้าเป็นผู้หญิงที่ตั้งท้องก็เป็นได้ทุกคน

ในเวลานั้นเราอยู่ในเหตุการณ์ที่ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สามีเขาก็เห็น และเนื่องจากว่า ผู้ตายมาด้วยภาวะปกติ ทำให้ญาติและชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก ก่อนหน้าฟ้องร้อง เราได้ช่วยเหลือเยียวยา พยายามเจรจา ช่วยค่าปลงศพ และทุกๆ อย่าง แต่สุดท้ายเขาก็ฟ้องเรา นอกจากโดนฟ้องแล้ว ชาวบ้านก็มาที่โรงพยาบาล ขึ้นคัตเอาท์ว่า "หมอฆ่าคน" บางทีตามมาที่บ้านหรือไปโรงเรียนลูก สุดท้ายลูกต้องย้ายโรงเรียน ขณะที่พยายามต่อสู้คดีอย่างมาก

ตอนนั้นทีมกฎหมายและแพทย์คนอื่นๆ มีความคิด 2 ทาง สำหรับคดีเรา คือสนับสนุนให้การเจรจายอมความ ให้ยอมจ่ายเท่าที่เขาเรียกร้อง เรื่องจะได้จบๆ แต่อีกฝ่ายบอกว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าหมอรักษาคนไข้แล้วไม่หาย ก็หมายความว่าต้องกลายเป็นฆาตกร ระหว่างนั้น เราไปที่ไหนก็มีแต่คนเรียกว่า "หมอฆาตกร" เจ็บมาก

คิดว่าทำไมเรื่องนี้ลุกลามใหญ่โตมากไปทั้งอำเภอ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความไม่เข้าใจของชาวบ้านและถ้าหมอมองถอดประสบการณ์ก็คงมองได้2แบบ คือ คนที่เสียชีวิตก็มีคนรักเหมือนๆ กับเรา และเมื่อเสียชีวิตก็อาลัย ส่วนอีกแบบคือ หลายๆ คนก็คงอยากแสดงความรู้สึกต่างๆ แสดงตัวตนว่ามีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งคนที่ต้องการสร้างบรรทัดฐานเหล่านี้ บางครั้งก็พูดออกไปโดยที่ไม่ยั้งคิดก่อน บางครั้งคนเหล่านี้เป็นผู้มีอิทธิพลในสังคม

คนที่ไม่พอใจต่อเรื่องนี้ ไปที่โรงเรียนลูกของหมอ เขาไปทำไม

ขอเรียกเขาว่า กลุ่มคนหวังดีทางฝั่งโน้น เขาอยากไปเพราะอยากรู้ว่าหมอคนนี้คือใคร ตอนนั้นจะมีคนแบบนี้เยอะมาก มาหาเราแล้ว...คนนี้คือหมอสุดานีเหรอ? คนนี้หมอเซียงเหรอ? คนนี้ฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตายเหรอ? คนที่ไปโรงเรียนลูกเราก็คือเขาเป็นหนึ่งในผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนนั้น และในชุมชนแม่จันที่เป็นชุมชนเล็กๆ ใครๆ ก็รู้จักว่าเราเป็นหมอ เขารู้ว่าเรามีลูก เขาอยากไปดูหน้าลูกเรา แล้วเขาก็บอกว่า "อุ้ย เด็กนี่น่ารักเนอะ แต่เสียดายแม่ฆ่าคน" หมอเอาลูกออกจากโรงเรียนเลย รู้สึกอันตรายแล้ว ตอนแรกลูกอยู่โรงเรียนเอกชน ก็ต้องย้ายไปโรงเรียนรัฐบาล ส่วนตอนที่มีคนไปที่บ้าน เพราะในชุมชนเขาเข้าใจว่าหมอรวย เขาก็อยากรู้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน พอไปดูเขาก็บอกว่า "อุ๊ย รวยมากเลย อย่างนี้ต้องเอาสิบล้าน" เป็นอารมณ์ที่อยากรู้น่ะ สิบล้าน เราไม่มีเงินหรอกมากขนาดนั้นหรอก

ระหว่างต่อสู้คดี ครอบครัวได้รับผลกระทบยังไงบ้าง

ลูกกลัวตลอดเวลาว่าแม่จะถูกจับตัวไปเข้าคุก เพราะฉะนั้นมันกระทบทางจิตใจมาก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสามี ก็เริ่มเห็นว่า เจตนคติแต่ละคนในเรื่องนี้มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับเหตุการณ์นี้ เราก็เห็นว่าเราเป็นต้นเหตุของการทำให้ครอบครัวเป็นทุกข์ บางเรื่องเราก็เก็บๆ ไว้ ไม่เล่าให้สามีฟัง แต่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มขัดแย้งกันในครอบครัวเรื่อยๆ สุดท้ายก็จบด้วยการแยกทางกัน

การแยกทางกัน เป็นเพราะมาจากการสู้คดีนี้

บางคนบอกว่า นี่มันคนละเรื่องกัน การฟ้องร้องกับขอหย่า แต่ความจริงมันเป็นประเด็นสำคัญเลย เพราะระหว่างถูกฟ้องร้อง มีช่วงที่เราทำกระบวนการขอประกันตัวไม่ทัน ด้วยความไม่รู้กฎหมาย เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขังใต้ศาล สามีมาเห็นก็บอกว่า อย่าไปเป็นหมอเลย เพราะเป็นหมอแล้วยังต้องมาเข้าคุกอีก ที่จริงเขาก็ปราถนาดี แต่คนเรามีวิธีการแก้ปัญหา หรือมุมมองเรื่องนี่ที่แตกต่างกัน เรื่องการสู้คดี สามีอยากให้เราสู้ด้วยการฟ้องกลับ แต่สำหรับเราคิดว่าฟ้องกันไปมาไม่มีประโยชน์ ต้องดีลกับเรื่องพวกนี้ไปอีกเรื่อยๆ พอเรามีเรื่องอะไรก็ไม่ค่อยอยากบอกเขา จนมาถึงจุดแตกหัก เขาบอกว่า ไม่ไหวแล้ว การอยู่กับหมอนี่ทำให้เขาลำบากเหลือเกิน เขาก็ขอหย่า
เราไม่เตรียมตัวที่จะหย่าเลยนะ ไม่คิดเลย แต่เขาคงไม่ไหวของเขาจริงๆ ตอนหย่าวุ่นวานมาก ย้ายออกมาจากบ้านของเขา และเอาลูกสองคนไปอยู่กับบ้านพี่สาวสองคนที่เรานับถือ ระหว่างนั้นเราก็สร้างบ้านใหม่ของตัวเอง หลังจากมีบ้านเป็นของตัวเองและเริ่มนิ่ง ถึงได้มาเริ่มเขียนหนังสือ


Image: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438667949

หมอมองเรื่องกฎหมายไทยในเรื่องการต่อสู้คนไข้กับหมอเป็นยังไง

ความจริงกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ดีทำให้หมอกับคนไข้สามารถคุยและชี้แจงต่อกันได้แต่ช่องโหว่มันมีอีกเพราะการรักษาคนไม่เหมือนกัน มันไม่มีคำว่า 100% ใน medicine (การแพทย์) นะ กว่าจะแปลงภาษาหมอให้เป็นภาษาธรรมดาก็ยากมาก แล้วถ้าเกิดเรื่องสุดวิสัยขึ้นมา หมอก็ไม่รู้จะแปลความที่ไม่ 100% นี้ให้ประชาชนเข้าใจได้ยังไง สำหรับหมอคนอื่น มีทั้งโกรธกับเรื่องแบบนี้ และการมีอัตตาของหมอแต่ละคนด้วยก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนไข้ได้ ส่วนคนไข้ก็จะมีความรู้สึกโกรธและมีความคาดหวังต่อกรณีแบบนี้ ณ ตอนนี้การทำงานของหมอไม่ได้สู้กับโรคภัยไข้เจ็บหรอก เราสู้กับความคาดหวังของแพทย์เองกับความคาดหวังกับประชาชน แล้วก็ต้องสู้กับความกลัวของแพทย์เองและความกลัวของประชาชน ไม่ไว้ใจกันและกัน หมอเขียนหนังสือไว้ว่า มันเป็นสัมพันธภาพที่แห้งแล้ง

ระหว่างการต่อสู้คดี เพื่อนๆ หมอคนอื่นว่ายังไงบ้าง

เขาก็โกรธแทน เพราะเขารู้ว่าเรามีลักษณะอย่างนึงคือเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิส คือต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และเขารู้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่าเหตุการณ์อย่างนี้รักษาไม่ได้ มันยากมาก ถ้าเกิดเหตุนี้ขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็จะเสียชีวิต และถ้ารอดอาจเป็นเจ้าหญิงนิทรา เพื่อนๆ หมอจึงโกรธแทน หมอในโรงพยาบาลก็เริ่มรู้สึกไม่ดีกับคนไข้คือกลัว เพราะเราเอาความกลัวเข้ามาแล้ว แทนที่จะทำงานตรวจคนไข้ รักษาเพื่อให้หาย แต่อีกด้านถ้าเรารักษาแล้วไม่หายและเสียชีวิต เขาจะกลับมาฟ้องเรา ที่จริงระหว่างการสู้คดีของเรา ก็มีเหตุการณ์อย่างนี้อีกที่โรงพยาบาล มีหมออีกคนถูกฟ้องคดีแพ่งและเขาก็แพ้คดี ระหว่างนั้นโรงพยาบาลดราม่าทั้งโรงพยาบาล พยาบาลก็ไม่กล้าทำงาน หมอสั่งให้ฉีดยาให้คนไข้ พยาบาลก็กลัว ส่วนกรณีหมอรักษาคนไข้ในวาระสุดท้ายก็มีความระแวงสูง การตรวจคนไข้ของหมอช่วงปีที่สองที่สู้คดีก็ต้องทำอย่างช้ามาก เพื่อให้มั่นใจ ส่วนหมอที่ประสบปัญหาที่ระแวงในการรักษากลุ่มหนึ่ง ในที่สุดก็ไปจากโรงพยาบาลแม่จัน
ในระหว่างที่เราแย่มากๆ นี้เรามีเพื่อนที่ดี มีแพทยสภาที่เซ็นหนังสือค้ำประกันให้เรากลับมาเป็นหมอต่อ ส่วนวงการกฎหมายที่ช่วยคือ ท่านอัยการสุนทร ทองสุก ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ตอนที่เราสู้คดี ท่านสอนเราว่าในระหว่างกระบวนการชั้นศาลต้องปรับตัวยังไงบ้าง และสอนเรื่องชีวิตเสมอว่า เราเป็นคนแบบเป๊ะๆ มากไป ต้องรู้จักฟังคนอื่นบ้าง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

สุดท้าย คดีนี้จบยังไง

สุดท้ายคดีจบที่เขายอมถอนฟ้อง เขาเข้าใจและเราก็กลายเป็นเพื่อนกัน มีหลายคนก็แปลกใจว่าทำไมยังเป็นเพื่อนกันได้เนี่ย แต่เรารู้สึกว่าทำไมจะเป็นไม่ได้ เพราะคนที่เป็นเพื่อนกันก็คือคนที่ได้ผ่านประสบการณ์ได้เรียนรู้เหมือนๆ กันมา อีกอย่างเราก็เป็นเพื่อนมนุษย์กัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนๆ กัน แล้วเราจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้เลยเหรอ

มีทัศนคติต่อวิชาชีพหมอก่อนและหลังถูกฟ้องคดีนี้ยังไง เปลี่ยนไปมั้ย

ตอนแรกก็โกรธ ยิ่งช่วงที่คิดว่าจะฟ้องกลับดีมั้ย จะสู้หรือไม่สู้ เราก็โกรธ แต่คนที่มาเปลี่ยนทัศนคติคือลูกชาย ซึ่งตอนนั้นเขาอายุ 11 ปี เขาบอกเราว่าความจริงที่คนต้องมาฟ้องแม่ เป็นเพราะเขามีคนที่รักและเมื่อเขาต้องสูญเสียไป เขาก็ต้องเสียใจ และในความเสียใจนั้นแม่ต้องสงสารเขา ในเมื่อแม่ตั้งใจทำดีที่สุดและไม่อยากให้ใครเสียชีวิต แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ นะ ในตอนคนเขาโกรธอยู่ แม่จะอธิบายยังไง เขาก็ไม่อยากฟังหรอก ระยะเวลาที่ผ่านไปจะช่วยให้เขาเข้าใจเอง แม่ยังมีคนส่วนหนึ่งบอกว่าแม่ทำความดี แล้วถ้าแม่ทำความดีแม่จะหยุดเหรอ นี่คือที่ลูกบอกหมอ

ถ้าอย่างที่หมอบอกว่าต้องทำงานบนความระแวงกับคนไข้ ที่จริงแล้วเรายังเป็นหมอไปเพื่ออะไร

ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการจะทำดี คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย พวกนี้เป็นความทุกข์ ไหนๆ จะทุกข์แล้ว หมอก็อยากให้มันทุกข์น้อยๆ หน่อย คนไข้ในชนบท คนไม่มีเงินนี่ทุกข์มากนะ หมอก็มีหน้าที่ช่วย ประสบการณ์สอนเราว่า เราช่วยไปเถอะ ไม่ต้องหวังอะไรมาก เดี๋ยวจะมีเรื่องดีๆ ตอบแทนมา

ชาวบ้านมีท่าทีเปลี่ยนไปมั้ย

ก็ดีขึ้นเยอะนะ กลุ่มที่เป็นคู่กรณีก็กลับมารักษาที่โรงพยาบาล มีทีท่าดีขึ้น เป็นมิตรขึ้น เราก็ดีกลับไปให้เขาด้วย


Image: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438667949

จากเรื่องฟ้องร้องออกมาเป็นหนังสือเล่มได้ยังไง

เรื่องของเราเป็นเรื่องจริงแต่เขียนเชิงนวนิยายให้อ่านแล้วน่าติดตามพอเรื่องนี้ต้องไปสู่สาธารณชนก็ต้องสนุกและเราก็ตัดเรื่องที่อาจทำให้สังคมร้าวฉาน เราก็พยายาม search หาสำนักพิมพ์ อะไรบ้าง พยายามจะนำไปเสนอเหมือนกัน แต่หนึ่ง หมอไม่มีทักษะในการเขียน สอง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเราไม่ใช่คนเด่นดัง เขาก็ไม่เอาเรื่องเรา น้องสาวแนะนำว่า อย่างนั้นเราต้องเอาไปประกวด ก็มาส่งรางวัลชมนาด เพราะว่ารางวัลชมนาดเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนผู้หญิง ถ่ายทอดมุมมองสังคมของผู้หญิง แล้วเรื่องของเรามันเป็นเรื่องจริงด้วย ก็เลยเอาไปประกวด

การเขียนช่วยเยียวยาตัวเองมั้ย

จริง การเขียนมันทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ในบางครั้งบางคราว หมอเลยไม่แปลกใจว่า ทำไมคนอื่นถึงมองหมอแบบนั้น เราก็ผิดเหมือนกันนะ คนเราไม่มีใครถูกไปทั้งหมด อีกอย่างหนึ่งคือ ได้เห็นซึ่งการดำเนินต่อไปในชีวิตของเรา ว่าจะเดินทางในเส้นไหนดี และถ้าเราเดินทางในเส้นนี้ เราจะเดินทางด้วยความหวาดระแวง หรือว่าเราจะเดินด้วยความสุขใจที่ได้เดิน

อยากสื่อสารอะไรกับสังคม เมื่อมาเขียนหนังสือ

อยากจะรู้ว่าคนจะคิดอย่างไรกับวงการแพทย์ และวงการแพทย์จะปรับตัวอย่างไร อยากให้สัมพันธภาพที่ดีของแพทย์กับคนไข้กลับมา ไม่อยากให้มันแห้งแล้ง ระแวดระวัง และไม่สร้างสรรค์ และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างเหตุการณ์ เราก็ควรต้องนั่งลงคุยกันดีๆ แบบถอดหัวโขนออก แพทย์ก็อย่าไปคิดว่า ฉันอุตส่าห์ทำดีแล้ว ทำไมเธอมาทำอย่างนี้กับฉัน คนไข้ก็บอกว่า ก็เพราะเธอนั่นแหละ แบบนี้ไม่สนุก ปัญหาแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด คงไม่มีหมอคนไหนก้าวขาออกจากบ้านแล้วคิดว่า วันนี้ฉันจะฆ่าใครสักคน ไม่มีหรอก เราปราถนาดีกันทั้งนั้น เราต้องหาทางออกในเชิงสร้างสรรค์

โดยปกติ สนใจวรรณกรรมมั้ย

ชีวิตหมอบ้านนอกเวลาส่วนตัวไม่มีเลย เวลากินข้าวแทบไม่มี อ่านหนังสือบ้าง นิดๆ หน่อยๆ นวนิยายก็แทบไม่ได้อ่านเลย หนังสือที่อ่านเป็นหนังสือแนวเชิงคิดวิเคราะห์ หลังๆ เริ่มอ่านธรรมะ เริ่มสงสัยว่าตัวเองแก่แล้ว (หัวเราะ)

คิดว่าจะมีงานเขียนอีกมั้ย

มีคนถามเหมือนกัน จริงๆ เราก็มีคำถามเหมือนกันว่า ลูกทั้งสองของเรายังเป็นเด็กดีระหว่างที่เจอเหตุการณ์ครอบครัวอย่างนี้ เรามีช่วงไม่มีบ้านจะอยู่ ต้องกระเตงกันไปมา ทำไมลูกเรายังมีความคิดดีๆ อย่างนี้อยู่ เราก็คิดว่า ในฐานะของความเป็นแม่หม้ายกับเด็กบ้านแตก เราช่วยกันประคับประคองชีวิตยังไงให้เรามาอยู่จุดนี้ได้ คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องนี้ล่ะ คิดว่าภาคสองก็คงเป็นเรื่องระหว่างการถูกขอหย่า



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต