สวัสดีปีใหม่ไทย ขอคนไทยสุขภาพดี
: 11 เม.ย. 56 : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
สวัสดีปีใหม่ไทยครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันสงกรานต์ของทุกปีพี่น้องชาวไทยมีการเดินทางกลับภูมิลำเนากันมาก สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาบั่นทอนสุขภาพคนไทย ทำให้การคาดการณ์อายุของคนไทยต่ำกว่าประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ โดยมีข้อมูลการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของคนไทยสูงถึง ๓๘ ต่อแสนประชากรต่อปี ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพียง ๕ ต่อแสนประชากรเท่านั้น ดังนั้นปัญหาสาธารณสุขของเมืองไทยที่สำคัญ เรื่องหนึ่งคือ อุบัติเหตุจราจร ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถลดลงได้ เพียงแต่ทุกคนที่ขับขี่ยวดยานไม่ดำรงอยู่ในความประมาท ดังคำกล่าวที่ว่า “อุบัติเหตุไม่ใช่เคราะห์กรรมแต่เกิดจากการกระทำโดยประมาท”ความไม่ประมาทนั้นมีข้อพึงปฏิบัติหลัก ๓ ประการได้แก่
๑. สวมหมวกนิรภัยที่มีคุณภาพทุกครั้งเมื่อใช้มอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าคนขับหรือคนซ้อนก็ตาม
๒. เมาหรือง่วงไม่ขับ
๓. เคารพกฎจราจร ไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด มีน้ำใจซึ่งกันและกันกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง เช่นการลดความเร็วให้เมื่อมีรถที่เร็วกว่าแซง การให้ทางกันขณะที่มีรถรอกลับรถ หรือรถที่ออกจากซอย
หากปฏิบัติเช่นนี้หรือมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดอุบัติเหตุ และลดอัตราการตายในวัยทำงานลงได้มาก
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยท่านรัฐมนตรีนายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ คือการบริการสาธารณสุข ซึ่งนับจากท่านมารับตำแหน่งได้มีการปฏิรูประบบหลายประการเพื่อให้การบริการไปสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบายหนึ่งที่สำคัญคือการแบ่งเขตเป็นเครือข่ายบริการ ๑๒ เขต แทนเขตตรวจราชการเดิม ๑๘ เขต โดยคำนึงถึงจำนวนประชากรต่อเขตประมาณ ๓ – ๕ ล้านคนต่อเขต และจัดสรรงบประมาณลงในเขตตามจำนวนประชากรซึ่งจะทำให้มีความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเขต แต่ละเขตสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองให้มีความสามารถบริการประชาชนในเขตอย่างมีคุณภาพได้ในอนาคต และในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเรื่องหนึ่งคือ การปรับปรุงค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศข้อบังคับให้จ่ายแก่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนมากว่า ๕ ปี ซึ่งถูกท้วงติงจากสำนักงบประมาณว่าควรมีการจ่ายที่สมเหตุสมผลโดยควรมีการพัฒนาการบริการด้วย จึงมีการทดลองการจ่ายเงินค่าตอบแทนส่วนเพิ่มนี้ตามปริมาณงานโดยมีการใช้ในโรงพยาบาลนำร่องมาก่อน ซึ่งเป็นที่มาของ Pay for Performance หรือ P 4 Pในปัจจุบัน และมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้นำมาใช้ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ นี้เป็นต้นไป ซึ่งภาคีเครือข่ายวิชาชีพการแพทย์และการสาธารณสุข ได้แก่แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ มีความเห็นร่วมกันว่าการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างความสมดุลใน ๓ มิติ ได้แก่ มิติระหว่างโรงพยาบาลทุกระดับ มิติระหว่างวิชาชีพ และระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อระบบ โดยโรงพยาบาลพื้นที่ทุรกันดารเสี่ยงภัย และขาดแคลนบุคลากรยังคงได้รับค่าตอบแทนเช่นเดิม ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้กันตามสากล และเป็นเหตุผลด้านงบประมาณที่ใช้อ้างอิงต่อสำนักงบประมาณ อีกทั้งเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทุกระดับอย่างครอบคลุมและไม่เหลื่อมล้ำ การที่มีผู้ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการนำหลักของเอกชนมาใช้ และจะทำให้เกิดการแย่งกันทำงานเพื่อคะแนนผลงาน สร้างความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพนั้น เป็นการมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งอาจมีได้เป็นรายบุคคล แต่สำหรับผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มีจรรยาบรรณวิชาชีพกำกับ ที่มุ่งจะรักษาคนไข้ให้ได้ผลดีเป็นสำคัญ ส่วนค่าตอบแทนเป็นเพียงปัจจัยสำหรับเลี้ยงชีพ ซึ่งผู้บริหารพึงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่สมควรนำมาเป็นข้ออ้างหรือต่อรองที่จะไม่ทำหน้าที่ของตนเพียงเพราะไม่ได้ค่าตอบแทนตามที่ตนคาดหวังแต่สามารถเรียกร้องได้
ผู้เขียนจึงหวังว่าสิ่งดีๆจะยังเกิดขึ้นกับสาธารณสุขไทยต่อไป เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า สามารถเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกันครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก
นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา