โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒...

: 19 เม.ย. 61     : แพทยสภา


โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒

๕๐ ปี แพทยสภา ปธพ.๖ ยกทีม แพทย์จิตอาสา จับมือ สหสาขาวิชาชีพ จัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดลพบุรี

มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุข และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์รุ่นที่ ๖ (ปธพ.๖) และ ภาคีเครือข่าย ยกทีม แพทย์เฉพาะทางอาสา สหสาขาวิชาชีพและบุคลากรจิตอาสา จัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒ โดยร่วมกัน ๓ โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.อานันทมหิดล รพ.พระนารายณ์มหาราช รพ.มะเร็งลพบุรี ผนึกกำลังให้บริการตรวจรักษา-ผ่าตัดโรคยากซับซ้อน 20 คลินิกเฉพาะทางที่มีคิวรอยาวนาน โดยนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ-เอกชน ลงพื้นที่ เป้าหมายช่วยคนไข้ ๑๐,๐๐๐ ราย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร สภานายกพิเศษ แพทยสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวาระสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยเป็นอย่างมาก

แพทยสภา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของแพทย์ไทยทุกสังกัด ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันพระปกเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 6 (ปธพ.6) จึงพร้อมใจกันจัด “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒” โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากครั้งแรก ในปี ๒๕๖๐ ที่ได้จัดขึ้น ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และดูแลผู้ป่วยไป ๑๔,๕๑๐ ราย โครงการที่ ๒ นี้ได้รับพระมหากรุณา พระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม 2561 ใน ๓ โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลอานันทมหิดล, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช, โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ให้เกียรติเป็นประธาน โครงการฯ กิจกรรมแพทย์อาสาครั้งนี้ถือเป็นงานจิตอาสาขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของแพทย์จิตอาสา สหวิชาจิตชีพอาสา ร่วมกับบุคลากรจิตอาสาอื่นๆ เพื่อมอบโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้กับชาวจังหวัดลพบุรี เมืองพระนารายณ์ ในวาระพิเศษ ๕๐ ปี แพทยสภา และ ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการครั้งใหญ่ของวงการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อประชาชน ที่จัดโดยหลักสูตรการศึกษาของผู้บริหารระดับสูงของแพทย์ซึ่งทำต่อเนื่องมา ๖ ปีต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมในโครงการนี้

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษามูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ทางมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ธรรมาภิบาลของวงการแพทย์ไทย ส่งเสริมโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม และ โครงการแพทย์อาสา ผ่านหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ของแพทยสภา โดยมีท่าน ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน ในปีนี้มูลนิธิฯ ได้ขอพระราชานุญาตในการจัดงานแพทย์อาสา และ วางระบบการนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สู่ชุมชน เพื่อลดช่องว่าง ในการรักษาพยาบาลระดับสูง กับพื้นที่ ที่ขาดแคลน ทีมงานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล และบุคลากรจิตอาสา นำโดยนักศึกษา ปธพ.รุ่นที่ ๖ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำสำเร็จมา ๕ ปีต่อเนื่องแล้ว และมั่นใจว่าจะทำให้การแพทย์ของไทยสามารถบูรณาการเชื่อมโยงทั้ง ๕ กระทรวง และภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี ผ่านโครงการจิตอาสานี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนในชุมชนเป้าหมาย คือ จังหวัดลพบุรีโดยตรง โดยทางมูลนิธิจะสนับสนุนในการดำเนินการ และวางระบบการจัดการให้ผู้ป่วยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจิตอาสา ตามสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่โดยตรง และมีการดูแลต่อเนื่องแบบยั่งยืน ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ ๖ จังหวัดที่ ๖ ที่ได้ดำเนินการ และจะขยายต่อเนื่องไปทุกปีให้เข้าถึงประชาชนที่ต้องการจริงๆ ตามแนวทางเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ของสมเด็จพระราชบิดาฯ สมดังที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทาน พระราชดำรัสสำคัญไว้ จนเกิดเป็นโครงการ ปธพ. ที่สำคัญต้องขอบคุณแพทยสภาและสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง อันเป็นต้นแบบการใช้ธรรมาภิบาลแก้ปัญหาวงการแพทย์ และการร่วมใจทำกิจกรรมอาสาเพื่อประชาชนหลายโครงการในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ของแพทยสภา เป็นหลักสูตรที่มีต้นกำเนิดมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชทานเป็นแนวทางแก้ปัญหาวงการแพทย์ไทย ให้แก่คณะแพทย์ผู้รักษาโดย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลได้นำมาถ่ายทอดให้คณะกรรมการแพทยสภา คือ ขอให้แพทย์ไทยถือหลัก “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” แพทยสภาจึงได้มีมติให้ดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้านำ “ธรรมาภิบาล” มาเป็นหลักในการสร้างโครงการการศึกษาและกิจกรรมให้บรรลุตามแนวทางพระราชดำรัสดังกล่าว โดยนักศึกษาจะเรียนรู้ข้อเท็จจริง ปัญหา และร่วมกันทำงานวิจัยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไทย ปีละ 10 หัวข้อเรื่อง และนำเสนอในการประชุมวิชาการ ซึ่งได้นำมาแก้ไขปัญหาวงการแพทย์ไปแล้วจำนวนมาก และทุกปีจะจัดรวมใจแพทย์จิตอาสาทำโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้แพทยสภาประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 81 สาขา ภายใต้ 15 วิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใน 4 เสาหลัก คือ 1.สาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัย 3.ทหารตำรวจและภาครัฐอื่นๆ และ 4.ภาคเอกชน ซึ่งทุกปีจะมีแพทย์เฉพาะทางอาสาเข้าร่วมสนับสนุนโครงการจำนวนมาก เพื่อให้การรักษาในระดับตติยภูมิ หรือการรักษาโรคที่ซับซ้อน ที่ต้องใช้เครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างมากสำหรับประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด จนต้องรอคอยคิวยาวนาน ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมในโครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการทางการแพทย์ ที่ร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในวาระ 50ปี แพทยสภา

ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้า ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ร่วมกับแพทยสภาจัดทำหลักสูตร ประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ขึ้น ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในเรื่องธรรมาภิบาล แก่ผู้บริหารสายแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตบุคลากรอันทรงคุณค่าที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการสร้างความเจริญพัฒนาของระบบแพทย์ไทย โดยมุ่งนำ“ธรรมาภิบาล”ไปสู่การปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ ผ่านงานวิจัย และการสร้างกิจกรรมจิตอาสา จึงเป็นทั้งกระบวนการการเรียนในหลักสูตรและการแสดงพลังจิตอาสาของนักศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาวงสาธารณสุขไทยแบบเป็นรูปธรรม พบว่าหลักสูตรดังกล่าวมีผลงานประจักษ์ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในสังคม สถาบันพระปกเกล้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพทุกปี นับเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างแท้จริง และนำชื่อเสียงมาสู่ทั้งวงการแพทย์ และทางสถาบันฯเป็นอย่างมาก ต้องขอขอขอบคุณ แพทยสภา และทุกหน่วยงานที่ร่วมใจกันจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติฯครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

พลโท นายแพทย์ พีระพล ปกป้อง ผู้แทนเจ้ากรมแพทย์ทหารบกและประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 6 (ปธพ.6) กล่าวว่ากรมแพทย์ทหารบก มีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักแห่งหนึ่งของกองทัพบก ได้มีโอกาสเป็นสถานที่หลักในการจัด โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑๐ ในครั้งนี้ โรงพยาบาลอานันทมหิดล ได้เปิดดำเนินการรับใช้ประชาชนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมเวลา ๘๐ ปี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ทรงพระราชทานพระนามและมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯมากระทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๑ และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบกไทย ขึ้นตรงกับกรมแพทย์ทหารบก ด้วยทำเลที่ตั้ง ตลอดจนศักยภาพของโรงพยาบาลที่สามารถรองรับบุคลากรทางการแพทย์นับพันรายเข้าพื้นที่ เพื่อดูแลชาวลพบุรีได้พร้อมกันระดับหมื่นคนได้เป็นอย่างดี ทางกรมแพทย์ทหารบกจึงมีความยินดีสนับสนุน “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒” ต่อเนื่องจากที่โครงการแพทย์อาสาฯ เคยไปจัดที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ และเชื่อมั่นว่าทางบุคลากรของกองทัพบกทุกท่านจะร่วมงานจิตอาสาครั้งนี้ด้วยความภาคภูมิใจ

พลตรี นายแพทย์ นิมิตร์ สะโมทาน ประธานโครงการหน่วยแพทย์อาสา ฯ กล่าวว่า จะมีแพทย์จิตอาสาเข้าร่วมในโครงการกว่า 400 คน มาจากคณะแพทยศาสตร์ 21 แห่ง ราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 15 แห่ง แพทย์จากภาครัฐ แพทย์จากเหล่าทัพทั้ง 4 แห่ง ตลอดจนแพทย์จากภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ กรมแพทย์ทหารบก ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และหน่วยราชการอื่นๆ เพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรอเข้ารับการรักษาโรคเฉพาะทางของผู้ป่วยในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้โครงการจะมีคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ จำนวนกว่า 20 คลินิก อาทิ คลินิกศัลยกรรม คลินิกมะเร็งเต้านม คลินิกจักษุ คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือด คลินิกระบบประสาท คลินิกสอนกู้ชีพปั้มหัวใจ (CPR) คลินิกทันตกรรม คลินิกหูคอจมูก คลินิกสูตินรีเวช คลินิกส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกตรวจสุขภาพและคัดกรอง คลินิกเทคนิคการแพทย์ หน่วยรับบริจาคโลหิต คลินิกพัฒนาการเด็ก คลินิกกุมารและเด็กอ้วน คลินิกกายอุปกรณ์ คลินิกศูนย์รักษาความพิการเคลื่อนที่ คลินิกข้อเข่าและเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกแพทย์แผนไทยและฝังเข็ม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้กว่า 10,000 รายโดยการจองนัดหมายล่วงหน้า นอกจากการให้บริการตรวจรักษาคนไข้แล้ว โครงการฯ ยังมีกิจกรรมจากหน่วยสนับสนุนอีกมาก ที่ร่วมใจมอบให้กับประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้ง กิจกรรมบนเวที ของที่ระลึก โรงอาหาร และบูธให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นงานในส่วนของนักศึกษาในหลักสูตร ปธพ.6 สายสนับสนุนงานแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงที่เป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาหลักสูตรต่างๆของสถาบันพระปกเกล้า และหน่วยงานในพื้นที่ลพบุรี ตลอดช่วงเวลาออกหน่วยแพทย์อาสา จึงขอเชิญชวนประชาชนมาตรวจสอบรายละเอียดสอบถาม และจองคิว เข้ารับการรักษาได้จากทั้งสามโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการนี้ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แพทยสภาและสถาบันพระปกเกล้าพร้อมทั้งนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง ได้ร่วมกันจัดงานโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒ เป็นการนำแพทย์เฉพาะทางไปตรวจรักษาผู้ป่วยถึงในท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดลพบุรียังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง โครงการฯ นี้ จึงเป็นโครงการที่ดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ในฐานะกระทรวงสาธารณสุข ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ และขอเชิญชวนประชาชนในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียงมาใช้บริการ

พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง เปิดเผยว่า การออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ เป็นกิจกรรมหลักของหลักสูตรประกาศนียบัตร ธรรมาภิบาลทางการแพทย์ฯ ที่มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับหลายหน่วยงาน มีการดำเนินการติดต่อกันมาทุกปี โดยหมุนเวียนเปลี่ยนสถานที่ออกหน่วยไปยังจังหวัดต่างๆเพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ในระดับตติยภูมิให้กับประชาชนในต่างจังหวัด ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ล้วนต้องเดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรอคิวพบแพทย์ยาวนาน โครงการนี้จึงตั้งเป้า ที่จะให้คิวการรอรักษาเหลือศูนย์ และยังเป็นการซ้อมจัดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือจากแพทย์ทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดความจำเป็นในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากราชวิทยาลัยฯ โดยแพทย์เฉพาะทางไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดโดยตรง การให้ความรู้กับ อสม. พระสงฆ์ จิตอาสา ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นข้ามร่วมมือข้ามกระทรวงและสังกัด สำหรับการจัดโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ โดยหลักสูตร ปธพ.ในอดีตที่ผ่านมาทั้ง ๕ ครั้งนั้น ได้ให้การรักษาคนไข้ในระดับตติยภูมิไปแล้วราว 40,000ราย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา และ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

สำหรับประชาชนในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นคนไข้โรคเฉพาะทาง ทั้ง ๒๐ สาขา สามารถติดต่อขอเข้ารับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใน “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่ ๒” ที่จะจัดขึ้นในวัน ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล โดยติดต่อขอทราบรายละเอียด และลงทะเบียนล่วงหน้าได้ โรงพยาบาลอานันทมหิดล โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ในวันและเวลาราชการ


ภาพกิจกรรม



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต