สารจากนายกแพทยสภา

: 21 ส.ค. 61     : แพทยสภา


การกำหนดเป้าหมายชีวิต : ความสำคัญและกระบวนการ

Image

     มีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ได้กำหนดเป้าหมายชีวิตก่อนที่จะเข้ามาเรียนแพทย์ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ที่เข้ามาเรียนแพทย์จากการชักชวนหรือการชี้แนะจากผู้อื่น ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และพบได้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงกับวิชาชีพหรืออาชีพใด ๆ อย่างไรก็ตาม การกำหนดเป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่ารอจนถึงวันท้าย ๆ ของชีวิตแล้วเกิดคำถามว่า “ ฉันเกิดมาทำไม ? ฉันเกิดมาเพื่ออะไร? ฉันได้ทำในสิ่งที่พึงกระทำเรียบร้อยแล้วหรือยัง ? หากยัง... ฉันจะฝากให้ใครทำต่อ ? ” หากคำถามเหล่านี้ ไม่มีคำตอบในวันนั้น คงเป็นการยากที่จะมีคำว่า "สงบ" ในวันสุดท้ายของชีวิต

ทำไมจึงควรกำหนดเป้าหมายชีวิต

     เป้าหมายชีวิตเป็นเสมือนหนึ่งธงชัยที่ปักอยู่ในที่ไกล แต่สามารถมองเห็นได้ การเห็นธงชัย ทำให้รู้ทิศทางการเคลื่อนของชีวิต รู้ว่าควรเดินทางไปทางไหน (เรียนรู้อะไร ทำงานอย่างไร เป็นต้น) รู้ว่าควรเดินเร็ว เดินช้า เพียงใด (เพื่อให้ถึงธงชัยในเวลาที่กำหนดหรือภายในช่วงชีวิตนี้) เป้าหมายชีวิตอาจกำหนดเป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง โดยมีเหตุผลแห่งการกำหนดนั้น สำหรับแพทย์ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นแนวคิดในการกำหนดเป้าหมายชีวิต

 

" ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์ "

กระบวนการกำหนดเป้าหมายชีวิต

     เมื่อเอ่ยถึงการกำหนดเป้าหมายชีวิต คนจำนวนมากเริ่มจากอยากเป็นอะไร (What) เมื่อชัดเจนว่าอยากเป็นอะไรจึงต่อด้วยคำถามว่าจะถึงเป้าหมายได้อย่างไร (How) แล้วค่อยต่อด้วยคำถามว่าทำไมถึงอยากเป็นอย่างนั้น (Why) การตั้งเป้าหมายชีวิตด้วยขั้นตอนดังกล่าวนี้ (What > How > Why) อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายชีวิตไม่บรรลุ คนจำนวนไม่น้อย เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วประสบพบอุปสรรคหลากหลายหรือความยากลำบากมากมาย จะหยุด ไม่มุ่งต่อ เพราะขาดแรงบันดาลใจ (เหตุผล) ที่คอยผลักดันให้เดินทางต่อไป มีตัวอย่างในอดีตที่สอนให้รู้ว่า การกำหนดเป้าหมายชีวิตที่เริ่มด้วยคำถามว่าทำไมต้องตั้งเป้าหมายชีวิตและตั้งเป้าหมายเพื่ออะไร (Why) แล้วสุดท้ายส่งผลให้บรรลุเป้าหมายโดยผ่านความมุ่งมั่นพยายามอย่างต่อเนื่องด้วยแรงบันดาลใจ ตัวอย่างสองพี่น้องตระกูล Wright ที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตอยากให้คนสามารถเดินทางทางอากาศได้ เพื่อให้สามารถร่นระยะเวลาในการเดินทาง สามารถเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล ข้ามภูเขาได้ ด้วยการใช้กระบวนการศึกษา ค้นคว้า จนสามารถสร้างเครื่องบินที่ทำให้มนุษยชาติสามารถเดินทางทางอากาศได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๓

     สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ก่อนที่จะเสด็จไปทรงศึกษาทางด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ ณ เมือง Boston สหรัฐอเมริกา ได้เคยมีพระราชดำรัสระบุถึงสาเหตุที่ทรงตัดสินพระทัยจะเป็นแพทย์ว่า

     "ฉันชอบวิชาปกครอง แต่ฉันไม่เรียน เพราะวิชาดังกล่าว เป็นวิชาที่ฉันมองเห็นแล้วว่า ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ยังความทุกข์ร้อนให้แก่ผู้อื่น ฉันเกิดเป็นคน ควรจะทำให้ตนมีค่า หมายถึงว่า ทำตนให้เป็นที่หลั่งออกเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้รับความสุขจากเรา ฉะนั้น ฉันจึงเลือกเรียน วิชาแพทยศาสตร์"

     ขอย้ำอีกครั้งในความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายชีวิต สำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพแพทย์นั้น ความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากเป้าหมายในชีวิตส่วนหนึ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม เพื่อผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับทุกขเวทนาจากการเจ็บไข้ได้ป่วย

" ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” ที่จะกำหนดเป้าหมายชีวิต "



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต