แพทยสภา : องค์กรวิชาชีพที่ใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐ

: 12 พ.ย 56     : ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม : เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง


               แพทยสภา องค์กรซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม การสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือ เพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตลอดจนการรับรองปริญญา  ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาแพทยศาสตร์  หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดโดยมีการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการ                          

                  โดยสถานะแล้ว..แพทยสภามิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หากแต่ในการทำหน้าที่ของแพทยสภานั้น เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายปกครองในการควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กล่าวคือเป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐในการควบคุมตรวจสอบการประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทยสภาจึงมีลักษณะเป็น “หน่วยงานทางปกครอง” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

                ฉะนั้น เมื่อเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของแพทยสภา เช่น กรณีผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายร้องเรียนกล่าวหาหรือกล่าวโทษแพทย์ผู้ทำการรักษาต่อแพทยสภาว่าไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยหากแพทยสภาพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกข้อกล่าวหาหรือกล่าวโทษ และผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วย หรือในกรณีที่แพทยสภาวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งลงโทษพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ผู้ถูกร้องเรียน และแพทย์ผู้ถูกร้องเรียนไม่เห็นด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของแพทยสภาทั้งสองกรณีดังกล่าวสามารถนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งได้ ทั้งนี้เพราะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองของแพทยสภา อันเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

               กล่าวโดยสรุปก็คือ หากคู่กรณีพอใจหรือยอมรับในคำสั่งซึ่งก็คือมติหรือผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทยสภา เรื่องก็เป็นอันยุติ แต่หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับหรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถที่จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของแพทยสภาได้นั่นเอง 

              โดยที่คำสั่งยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษของแพทยสภา หรือคำสั่งลงโทษของแพทยสภานั้น มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล แต่ด้วยเหตุที่คำสั่งของแพทยสภานั้นเป็นคำสั่งในรูปของคณะกรรมการ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองก่อนฟ้องคดี ตามมาตรา 44 ประกอบมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้นคู่กรณีจึงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้เลยโดยไม่ต้องมีการอุทธรณ์คำสั่งก่อน  กล่าวคือสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ทั้งนี้ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งก็คือนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือผลการพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภานั่นเอง

             โอกาสนี้ผมได้นำตัวอย่างกรณีที่แพทย์ผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของแพทยสภา แล้วนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว จำนวน 2 คดี โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

          คดีแรกผู้ฟ้องคดีได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าตรวจค้นสถานพยาบาลพร้อมทั้งได้จับกุมผู้ฟ้องคดีกับลูกจ้างจำนวน 2 คน โดยกล่าวหาว่าร่วมกันทำแท้งโดยหญิงนั้นยินยอม และปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ฟ้องคดีให้การปฏิเสธ ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี แต่ได้ฟ้องลูกจ้างของสถานพยาบาล 2 คนต่อศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันทำแท้งโดยหญิงนั้นยินยอมและประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับอนุญาต

           เลขาธิการแพทยสภาจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีแม้จะอ้างว่ามิได้รู้เห็นถึงการกระทำของผู้กระทำผิด ก็หาทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นความรับผิดได้ไม่ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลซึ่งต้องมีหน้าที่ดูแลบริหารงานภายในสถานพยาบาลตลอดจนดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการประพฤติผิด ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 หมวด 7 ข้อ 4 เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ กรณีสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพโดยผิดกฎหมายในสถานพยาบาลของตน  แพทยสภาจึงได้มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี

           ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในการลงโทษตนคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เพราะกรณียังไม่เป็นที่ยุติว่าเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ เนื่องจากคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว

           ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า  เมื่อเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ถูกจับกุมและดำเนินคดีอาญาในข้อหาประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำแท้งโดยหญิงนั้นยินยอม อันเป็นความผิดตามมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกระทำความผิดจริง และคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์

          แต่โดยที่การพิจารณาจริยธรรมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและการดำเนินการสถานพยาบาลของแพทยสภากรณีสถานพยาบาลถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยผิดกฎหมายในสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ชอบ ซึ่งไม่มีข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมฯ ที่กำหนดไว้ว่าต้องรอผลของการดำเนินคดีอาญาให้ถึงที่สุดก่อนถึงจะดำเนินการได้

            ดังนั้น แม้คดีอาญาจะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยคดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ก็หามีผลต่อการดำเนินการของแพทยสภาแต่อย่างใด โดยในการพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประพฤติผิดจริยธรรมหรือไม่นั้น คณะอนุกรรมการสอบสวนและแพทยสภามีอำนาจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษผู้ฟ้องคดีได้ ประกอบกับคณะอนุกรรมการสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวโทษและเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตาม ข้อ 15 ของข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยกระบวนวิธีพิจารณาคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2540 ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้ใช้สิทธิดังกล่าวแล้วและมิได้โต้แย้งว่าข้อเท็จจริงที่คณะอนุกรรมการสอบสวนแสวงหาได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อีกทั้งจากพยานหลักฐานที่พบในสถานพยาบาลและการที่เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลให้การรับสารภาพว่าได้ทำแท้งให้คนไข้ด้วยตนเอง จึงเป็นกรณีที่มีน้ำหนักและมีเหตุผลควรแก่การรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดในสถานพยาบาลของผู้ฟ้องคดีจริง

            เมื่อคณะกรรมการแพทยสภาได้รับรายงานจากคณะอนุกรรมการสอบสวนประกอบด้วยพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามหมวด 7 ข้อ 4 ของข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 แพทยสภาจึงมีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องรอคำวินิจฉัยของศาลในคดีอาญาให้ถึงที่สุดก่อน การที่คณะกรรมการแพทยสภามีมติให้ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี และมีคำสั่งแพทยสภาลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นมติและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คดีหมายเลขแดงที่ อ.230/2552)

         คดีที่สองคดีนี้สืบเนื่องมาจากได้มี ส.ส.ส่งหนังสือที่มีผู้ร้องเรียนต่อเลขาธิการแพทยสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการเปิดคลินิกศัลยกรรมของผู้ฟ้องคดีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้เคยเปิดคลินิกทำศัลยกรรมที่ต่างจังหวัดมาแล้ว โดยได้ทำการดูดไขมันของผู้ที่มาทำการรักษารายหนึ่งจนเสียชีวิตและได้ถูกสั่งปิดระหว่างรอผลการพิจารณาของแพทยสภา พร้อมกับได้แนบวารสารที่มีภาพโฆษณาเชิญชวนทำศัลยกรรมดวงตาที่คลินิกของผู้ฟ้องคดีในกรุงเทพมหานครมาด้วย เรื่องนี้จึงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการแพทยสภา

          คณะอนุกรรมการสอบสวนได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 (หมวด 7 ข้อ 2) กล่าวคือ โฆษณาสถานพยาบาลในทำนองโอ้อวดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือกิจการอื่นของสถานพยาบาลเกินกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากได้มีการลงภาพโฆษณาดวงตาจำนวน 26 ภาพ ที่เป็นการเปรียบเทียบลักษณะดวงตาก่อนและหลังทำศัลยกรรม โดยที่มิได้ระบุข้อความที่แสดงข้อเท็จจริงทางวิชาการใดๆ หรือคำเตือน ซึ่งอาจทำให้ผู้พบเห็นทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์คาดหวังว่าเมื่อตนไปใช้บริการคลินิกของผู้ฟ้องคดีแล้วจะได้ผลออกมาดังภาพที่ปรากฏ
แพทยสภาจึงมีคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนผู้ฟ้องคดี

            ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีข้อโต้แย้งว่าแพทยสภาได้มีคำสั่งลงโทษเกินกว่าเรื่องที่ร้องเรียน เนื่องจากผู้ร้องเรียนต้องการให้ตรวจสอบว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเปิดคลินิกที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้เคยเปิดคลินิกที่ต่างจังหวัดและได้ถูกสั่งปิดไป พร้อมกับได้แนบเอกสารการโฆษณาซึ่งมีชื่อและที่อยู่คลินิกของผู้ฟ้องคดีที่กรุงเทพมหานครมาด้วย ซึ่งแพทย์คนหนึ่งสามารถได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการสถานพยาบาลถึงสองแห่งได้และคลินิกของผู้ฟ้องคดีที่กรุงเทพมหานครก็ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว แต่แพทยสภากลับมีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีด้วยเหตุว่าภาพโฆษณาคลินิกของผู้ฟ้องคดีเข้าข่ายเป็นการโฆษณาสถานพยาบาลเกินความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากประเด็นที่ได้มีการร้องเรียน  อีกทั้งการจัดทำโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมอื่นๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก็ล้วนแต่มิได้มีการระบุข้อความที่แสดงข้อเท็จจริงทางวิชาการหรือ คำเตือนใดๆ เช่นกัน อันแสดงให้เห็นว่าดุลพินิจของแพทย์ทั้งหลายก็เห็นว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้ผิดต่อจริยธรรม

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักไว้ว่า มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ได้บัญญัติให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกที่กรุงเทพมหานคร แต่ภาพโฆษณาการทำศัลยกรรมดวงตาของผู้ฟ้องคดีนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่าหากทำศัลยกรรมกับคลินิกของผู้ฟ้องคดีจะทำให้มีดวงตาสวยงามเช่นที่ปรากฏในรูปภาพ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมิได้ระบุข้อความเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ทั้งที่รูปภาพดังกล่าวไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นรูปภาพของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ และการทำศัลยกรรมก็ไม่อาจรับรองผลได้ว่าผู้ทำศัลยกรรมทุกคนจะมีดวงตาสวยงามดังรูปภาพ

            กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลโดยโอ้อวดกิจกรรมของสถานพยาบาล ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง  อันขัดต่อข้อบังคับแพทยสภาฯ ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างเหตุการฝ่าฝืนข้อบังคับแพทยสภาของบุคคลอื่นมาเป็นข้อยกเว้นมิให้มีการลงโทษตนในกรณีนี้ได้

            ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า แพทยสภาได้พิจารณามีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีเกินกว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนนั้น เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของแพทยสภาตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 จะเห็นได้ว่า แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่ควบคุมการประพฤติปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม หากมีเรื่องร้องเรียนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด ก็เป็นหน้าที่ของแพทยสภาในการค้นหาความจริงและรวบรวมพยานหลักฐานว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาฯ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งการตรวจสอบของแพทยสภาไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องมีการร้องเรียนเท่านั้น ดังเช่นมาตรา 32 วรรคสาม ที่กำหนดให้คณะกรรมการแพทยสภามีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเองได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสถานพยาบาลของตนให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของแพทยสภา ดังนั้น การที่แพทยสภามีคำสั่งลงโทษว่ากล่าวตักเตือนผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คดีหมายเลขแดงที่ อ.112/2553)

       คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดทั้งสองกรณีดังกล่าว เป็นการวางหลักกฎหมายและบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทยสภา ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นการลดข้อพิพาททางปกครองอีกทางหนึ่งด้วย



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต