แถลงข่าว เรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล” โดย แพทยสภา และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)...

: 16 มิ.ย. 57     : แพทยสภา


เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมแพทยสภา อาคาร 6 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์  โล่ห์เลขา  นายกแพทยสภา พร้อมด้วยนายแพทย์อนุวัฒน์  ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ร่วมแถลงข่าว มาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์  โล่ห์เลขา  นายกแพทยสภา กล่าวว่า ความปลอดภัยของคนไข้ เป็นสิ่งที่คนไข้และผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ความสำคัญสูงสุด  ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆ จึงได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของคนไข้ (Patient Safety Goals) ขึ้น โดยเลือกประเด็นที่มีโอกาสเกิดความไม่ปลอดภัยต่อคนไข้ ทั้งจากกระบวนการรักษาพยาบาล การสื่อสารระหว่างคนไข้กับหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ การจัดการเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างระบบงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าคนไข้ที่เข้ามารับบริการจะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด ตามมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อให้คนไข้ได้รับความปลอดภัย หายจากการเจ็บไข้ โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือได้รับอันตรายใดๆ

                ในปัจจุบันนี้พบว่าระบบการบริการรักษาในโรงพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป แพทย์ พยาบาล และบุคคลการทางการสาธารณสุขมีความตื่นตัวและตระหนักในกระบวนการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดยหลายๆ โรงพยาบาลได้มีพัฒนางาน  พัฒนาการรักษาผู้ป่วย  พัฒนาระบบต่างๆ  ในโรงพยาบาล โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA ซึ่งเป็นมาตรฐานโรงพยาบาลตามแบบฉบับของไทยเรา ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)  เป็นผู้ที่ดำเนินการ และเป็นผู้ที่คอยช่วยกระตุ้นให้โรงพยาบาลได้นำไปปฏิบัติและผ่านการรับรองตามมาตรฐานแล้วหลายแห่ง ซึ่งเมื่อมีระบบมาตรฐานเข้ามาช่วยก็ทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากขึ้น

 

                ส่วนกระบวนการหรือขั้นตอนในการดำเนินการสรรหาประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลได้ดำเนินการนั้น  ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการสรรหา ฯ เรื่อง การรับสมัครและการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ  เข้ารับการสรรหาเป็นประธานกรรมการจำนวน 1 ตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน 7 ตำแหน่ง เพื่อเป็นคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยได้เผยแพร่ประกาศผ่านช่องทางต่างๆ ไปแล้ว หากท่านใดที่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติก็สามารถสมัครหรือเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ทั้งนี้ ตั้งแต่วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม ถึง วันศุกร์ที่ 20มิถุนายน 2557 ในเวลา  ทำการ ( 08.30 – 16.30 น.) โดยยืนเอกสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) 

                โดยต้นเดือนกรกฎาคมคณะกรรมการสรรหา จะทำการพิจารณารายชื่อและคุณสมบัติของผู้สมัคร และคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเสนอชื่อผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ต่อไป

               

                สิ่งที่แพทยสภาคาดหวังในอนาคต คือ ต้องการเห็นระบบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีคุณภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน  มีระบบการรักษาพยาบาลที่ปลอดภัย  ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเข้าไปรับการรักษาพยาบาลก็ปลอดภัยทีมแพทย์ที่ทำการรักษาก็มีระบบงานที่ดี ไม่ก่อนให้เกิดความเสียงในขั้นตอนการรักษาพยาบาล แพทย์ก็ปลอดภัยจากปัญหาหารฟ้องร้อง ร้องเรียนต่างๆ

                นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยว่าเป็นความคาดหวังของสังคม เป็นเป้าหมายสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เป็นความรับผิดชอบของวิชาชีพ และเป็นมาตรการสำคัญที่จะลดความสูญเสีย ลดความไม่พึงพอใจ ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

                สรพ. มีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นผู้เร่งการเปลี่ยนแปลง (change catalyst) โดยใช้การรับรองคุณภาพเป็นแรงจูงใจให้สถานพยาบาลต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพ กระตุ้นให้สถานพยาบาลนำเหตุการณ์และปัญหาต่างๆ มาทบทวนและปรับปรุงระบบเพื่ออุดจุดโหว่ต่างๆ  มาตรฐานที่ใช้ในการประเมินมีข้อกำหนดทั้งในส่วนของระบบบริหารความเสี่ยง และประเด็นความเสี่ยงเฉพาะที่สถานพยาบาลต้องให้ความสำคัญ  นอกจากนั้นสถาบันยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย เช่น การสร้างเวทีให้คนทำงานในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงสูงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน การสร้างระบบให้สถานพยาบาลต่างๆ สามารถเปรียบเทียบตัวชี้วัดผลงานระหว่างกันได้  ที่น่าสนใจคือประสบการณ์จริงในพื้นที่สามารถให้คำตอบที่ได้ผลและมีความคุ้มค่า เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด

                สรพ.ได้นำหลักการและมาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศคือ International Society for Quality in Health Care (ISQua) มาปฏิบัติ  เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า สรพ.ได้รับการรับรองจาก ISQua เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา เป็นการยืนยันว่าระบบงานและมาตรฐานของ สรพ. เป็นที่ยอมรับของสากลเช่นเดียวกับการรับรองของสากลและของประเทศอื่นๆ

                เพื่อให้เหมาะสมกับระดับความสามารถในการพัฒนา สรพ.จึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาเป็นบันไดสามขั้นสู่ HA โดยขั้นที่ 3 คือการปฏิบัติตามมาตรฐานได้ครบถ้วนจึงจะเรียกว่าได้รับ HA  จากโรงพยาบาลทั้งหมด 1,314 แห่ง มีโรงพยาบาลที่นำเอากระบวนการพัฒนาตามมาตรฐาน HA ไปสู่การปฏิบัติ 980แห่ง ได้รับมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองในขั้น 3 หรือได้รับ HA แล้ว  578 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 44  และมีโรงพยาบาลที่อยู่ในขั้น 1และ 2  จำนวน 402 แห่ง  ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรนโยบาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรที่เป็นผู้จ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล เช่น สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

                สรพ.มีคณะกรรมการบริหารซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลทิศทางการทำงานของสถาบันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม มีความโปร่งใส เป็นกลาง โดยในจำนวนกรรมการ 11 ท่านนั้นมีกรรมการโดยตำแหน่งสองท่านคือปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ มีผู้อำนวยการสถาบันเป็นกรรมการและเลขานุการ ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการการแพทย์การสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพ ด้านการบริหาร ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และด้านสื่อสารมวลชนหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน  ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการบริหารสถาบันชุดที่สอง



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต