แถลงข่าวแพทยสภา กรณีอุ้มบุญ

: 08 ส.ค. 57     : แพทยสภา


แถลงข่าวแพทยสภา

กรณีอุ้มบุญ

วันที่ 7 สิงหาคม 2557 ณ ห้องประชุมสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา

อาคาร 6 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

-------------------------------------------

         วันนี้(7 สิงหาคม 2557) เวลา 15.30 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์็เลขา นายกแพทยสภา แถลงข่าวร่วมกับ ศ.คลินิกแพทย์หญิงวิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงว่า จากกรณีข่าวแพทย์ไทยอุ้มบุญให้กับชาวออสเตรเลียนั้น

๑. แพทยสภาได้รับเรื่องจาก สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ แล้ว เกี่ยวกับแพทย์ที่กระทำการละเมิดประกาศแพทยสภา ที่๑/๒๕๔๐ และ ๒๑/๒๕๔๕ เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน การให้บริการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

             ก. ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการซื้อขาย
             ข. ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่ อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์
             ค.หญิงที่ตั้งครรภ์แทน จะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ซึ่งกรณีเกี่ยวกับการอุ้มบุญของแพทย์ท่านนี้แพทยสภาจะได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการทางด้านจริยธรรมต่อไปแล้ว

๒. ปัจุบันนี้ แพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กำลังปรับปรุงประกาศแพทยสภา ในกรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน การให้บริการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

๑. ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์หรือหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขายหรือการรับจ้างตั้งครรภ์

๒. ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใดๆ ว่ามีไข่บริจาคหรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน

๓. ห้ามมิให้ดำเนินการเพื่อคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส

๔. ห้ามมิให้สถานพยาบาลหรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นคนกลางหรือร่วมกับนายหน้าจัดการ หรือนำเสนอ จัดหา หรือ นำเข้า/ส่งออก ไข่บริจาค หรือตัวอ่อนบริจาคหรือจัดหาสตรีเพื่อมารับตั้งครรภ์แทน

๕. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่ต้องไม่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น มีอายุระหว่าง ๒๐-๓๔ ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและทารกที่จะเกิดมา

 

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

       ศ.คลินิกแพทย์หญิงวิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงว่า

เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ในการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยาก แพทยสภา โดยมอบให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ให้เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑(๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

       สรุปประเด็นที่สำคัญ

ข้อ ๔ การให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หมายความว่า กรรมวิธีใด ๆที่เป็นการช่วยการเจริญพันธุ์ที่แตกต่างไปจากกระบวนการตามธรรมชาติ โดยการนำเซลล์สืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและ/หรือเพศชาย (Gamete) ออกจากร่างกายของผู้รับการรักษาและ

(๑) การเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในหลอดมดลูก (Gamete intrafallopian transfer)หรือ

(๒) การปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization) ด้วยวิธีการต่าง ๆ และการเคลื่อนย้ายตัว

อ่อนเข้าไปในหลอดมดลูก และ/หรือโพรงมดลูก (Embryo transfer)

         ข้อ ๕ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งมีหน้าที่ในลักษณะเดียวกันในหน่วยงานที่ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งของรัฐและเอกชนจะต้องรับผิดชอบหรือจัดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการให้การรักษาดังกล่าว และขอหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ข้อ ๗ ผู้รับผิดชอบในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จะต้องได้รับรองว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของแพทยสภา ..........

ข้อ ๘ผู้ที่จะให้บริการนั้น จะต้องรักษามาตรฐาน ดังนี้

1.      จะต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะเป็นการทำสำเนาชีวิต(Human cloning) เพื่อการเจริญพันธุ์

2.      การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก(Pre-implantation genetic diagnosis) ให้กระทำได้เฉพาะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกเพศ

3.      การรักษาในส่วนที่เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์สืบพันธุ์จากหญิงหรือชายหรือตัวอ่อน ที่ใช้ในกระบวนการช่วยการเจริญพันธุ์ จะต้องเป็นดังนี้

(๑)    กรณีที่สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายต้องการมีบุตรโดยให้ภรรยาเป็นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจให้การรักษาโดย

(ก) มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการขอรับบริจาคเซลล์สืบพันธุ์

(ข) ใช้เซลล์สืบพันธุ์จากผู้บริจาคเพื่อการปฏิสนธิไม่ว่าจะทำให้เกิดขึ้นภายในหรือ     ภายนอกร่างกายหรือรับบริจาคตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์

(ค) การใช้เซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อนบริจาคต้องไม่ใช้ของบุพการีหรือผู้สืบสันดาน

 ของสามีและภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร

(๒)    กรณีที่คู่สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะให้การรักษาได้โดย

(ก)    ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)    มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการตั้งครรภ์แทน

(ค)    วิธีการตั้งครรภ์แทนอาจทำได้โดยใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่นแทน ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

(ง)     หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น มีอายุระหว่าง ๒๐-๓๔ ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและทารกที่จะเกิดมาและมิใช่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของทั้งสามีและภรรยาผู้ประสงค์จะมีบุตร

การรักษาที่นอกเหนือไปจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้างต้น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหรือเป็นผู้ให้การรักษาต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาก่อนการให้การรักษาทุกครั้ง

ข้อ ๙ การให้การรักษาดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

ข้อ ๙.๑ ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์หรือหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขายหรือการรับจ้างตั้งครรภ์

ข้อ ๙.๒ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใดๆ ว่ามีไข่บริจาคหรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน

ข้อ ๙.๓ ห้ามไม่ให้ดำเนินการเพื่อคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส

ข้อ ๙.๔ ห้ามมิให้สถานพยาบาลหรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นคนกลางหรือร่วมกับนายหน้าจัดการ หรือนำเสนอ จัดหา หรือ นำเข้า/ส่งออก ไข่บริจาค หรือตัวอ่อนบริจาคหรือจัดหาสตรีเพื่อมารับตั้งครรภ์แทน

ข้อ ๑๐ ให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศฉบับนี้ และรายงานผลการดำเนินการต่อแพทยสภาเป็นประจำปีละครั้ง

ราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับแพทยสภา

-    ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการปรับปรุง “มาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” เพื่อให้ทันความก้าวหน้าในทางการแพทย์

-    เชิญแพทย์ที่ให้บริการฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียดในเรื่องมาตรฐานฯ และขอข้อเสนอแนะ

-    ให้ข้อมูลทางการแพทย์แก่หญิงที่รับอุ้มบุญ

-     ร่วมผลักดันให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต