สธ.ร่วม 4 สภาวิชาชีพสุขภาพ พัฒนา “หมอพร้อม” สู่ Digital Health Platform ของประเทศ​...

: 07 มี.ค. 65     : แพทยสภา






     สธ.ร่วม 4 สภาวิชาชีพสุขภาพ พัฒนา “หมอพร้อม” สู่ Digital Health Platform ของประเทศ​กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 4 สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ พัฒนาระบบ “หมอพร้อม” สู่ Digital Health Platform ของประเทศไทย เชื่อมโยงโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิกเวชกรรม ทันตกรรม เทคนิคการแพทย์ ร้านยาและ รพ.สต. เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพดิจิทัล ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเองและบริการที่รวดเร็วปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัดเข้าใช้งานผ่านหมอพร้อม Station เพื่อบริการประชาชนได้แล้วตั้งแต่วันนี้ Telemedicine, Telepharmacy, ให้คำปรึกษาผลแล็บ, ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล, แจ้งเตือน/นัดหมายรับบริการ เป็นต้น

     ​วันนี้ (7 มีนาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม และ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ร่วมแถลงข่าว “ความร่วมมือการพัฒนาหมอพร้อม Digital Health Platform”



     ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขนโยบายส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและทั่วถึง ที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบ “หมอพร้อม” อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 28 ล้านคน ทั้งในระบบ LINE OA และแอปพลิเคชันล่าสุด ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรมและสภาเทคนิคการแพทย์ ขับเคลื่อนระบบหมอพร้อมสู่การเป็น Digital Health Platform ของประเทศไทยเพื่อปรับโฉมการให้บริการสุขภาพที่ทั้งทันสมัย เข้าถึง และเท่าทันต่อความต้องการของประชาชน



​     นพ.โสภณ กล่าวว่า การพัฒนาหมอพร้อม Digital Health Platform ร่วมกับ 4 สภาวิชาชีพ จะทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพแบบดิจิทัล สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในปัจจุบัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านโรคระบาดและปัจจัยกำหนดสุขภาพอื่น 1 ในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เช่น การนำ AI มาประยุกต์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค, การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพด้วยการจัดทำ Big Data เพื่อวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลสุขภาพสำหรับส่งเสริมการให้บริการ, การบริหารจัดการและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล (Cloud Computing), การพัฒนาระบบการสื่อสารทางไกลในการให้บริการประชาชน เป็นต้น ซึ่งนอกจากช่วยอำนวยความสะดวก ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชน ทั้งสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยของข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

     ​“กระทรวงสาธารณ์สุขจะสนับสนุนและผลักดันให้ “หมอพร้อม” เป็นDigital Health Platform ของประเทศไทย และขอเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ร่วมใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในการให้บริการประชาชน เพื่อเป็นการปรับตัวและช่วยพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย สู่ “Digital Health Care” ที่สมบูรณ์แบบต่อไป” นพ.โสภณกล่าว



     ​นพ.สุระ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดเชื่อมโยงระบบการให้บริการสุขภาพต่าง ๆ ของโรงพยาบาลรัฐ พยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผ่านไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองและเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเปิดระบบ “หมอพร้อม Station” ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสังกัดใช้งานหมอพร้อม Digital Health Platform ในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนแล้วตั้งแต่วันนี้บริการที่เปิดใช้งาน ได้แก่ Telemedicine ให้คำปรึกษาทางการแพทย์และติดตามการรักษาพยาบาล, Telepharmacy ให้คำปรึกษา ติดตามการใช้ยาและผลข้างเคียง, Telemedical Lab บริการด้านเทคนิคการแพทย์ รายงานผลการแปลผลทดสอบ และให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจ นำร่องด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วย ATK ผ่าน การใช้ Video Call เพื่อให้คำแนะนำการใช้ชุดตรวจอย่างถูกต้อง, การออกใบรับรองแพทย์แบบดิจิทัล ทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคและตรวจสุขภาพ, การบันทึกประวัติการแพ้ยาของประชาชน, การบันทึกผลตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK หรือ RT -PCR, ระบบแจ้งเตือน แจ้งนัดหมาย และส่งข่าวสารประชาสัมพันธ์ถึงประชาชน และการเชื่อมระบบ Logistics สำหรับการขนส่งยา จากโรงพยาบาล หรือคลินิก ไปถึงบ้านของประชาชน

     ​“ระบบบริการข้างต้น หลายหน่วยงานมีการใช้งานอยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับ 4 สภาวิชาชีพพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้หมอพร้อม Digital Health Platform รองรับการให้บริการสุขภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม อาทิ การให้บริการตรวจและรายงานผลแล็บอื่น ๆ เช่น การตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น การพัฒนาระบบนัดหมายเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา หรือหน่วยบริการสุขภาพอื่น ๆ การชำระคำรักษาพยาบาลแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะขยายการใช้งานหมอพร้อม Digital Health Platform ให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป” นพ.สุระกล่าว



     ​พล.อ.ต. นพ.อิทธพร กล่าวว่า การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ป่วย และแพทย์ การเดินทางถูกตัดขาด การรักษา การผ่าตัด ถูกเลื่อนออกไป การรักษาแบบเดิมที่เคยเข้าถึงสถานพยาบาลในหลายพื้นที่ทำไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากประสบผลกระทบกับผู้ป่วยจำนวนมากในส่วน

     แพทยสภา ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางอิเล็กทรอนิกส์มาก ในปีที่ผ่านมา ได้ปรับโครงสร้างหลักเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมด เพื่อให้สามารถดูแลวงการแพทย์ไทยได้อย่างต่อเนื่องแม้ในยาม โควิด-19 ระบาด ด้วยระบบ MD e-Meeting e-Document ได้ขยายไปยังสมาชิก ด้วยระบบ MD e-Service และ Application MD e-Connect ที่กำลังจะออกมาในปีนี้ พร้อมทั้งร่วมกับหลายหน่วยงานทางการแพทย์ สนับสนุน และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่สังคมผ่านทางราชวิทยาลัยต่าง ๆ มาโดยตลอด ​นวัตกรรมทางเทคโนโลยี จะยิ่งทรงพลังหากมี Platform สนับสนุน มีความร่วมมือ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการที่ประสานงานกับสภาวิชาชีพ

     ​​ระบบหมอพร้อม ระบบที่ทุกท่านคุ้นเคย และเป็น Platform ที่สร้างโดยกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาจากระบบการจัดการวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ขยายไปรองรับงานในระบบต่าง ๆ เพื่อการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ระบบ Telemedicine ใบรับรองแพทย์ ระบบดูแลคลินิกและปฐมภูมิ ดิจิทัล ไปจนถึงหมอพร้อม Station ที่จะนำมาแสดงในวันนี้

     ​​แพทยสภายุคปัจจุบัน บนระบบดิจิตอลเน็ตเวิร์ค จึงมีความพร้อมมากในการขับเคลื่อนจับร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และทุกสภาวิชาชีพสุขภาพ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนา ระบบใหม่ๆ ทุก Platform โดยเฉพาะหมอพร้อม ให้ขยายการทำงานให้ครอบคลุมการรักษาพยาบาลผู้ป่วย บนมาตรฐานวิชาชีพ ลดขั้นตอน และเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ บนพื้นฐานความปลอดภัย โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งแพทย์ และประชาชน ในยุค โควิด-19 และ New normal ต่อไป

     ​​วงการแพทย์จำเป็นต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ ทางไกล ถูกพัฒนา และนำมาใช้ โดยเฉพาะการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่จำเป็นต้องนำมาใช้งานอย่างรีบด่วน ได้แพร่หลายอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาและขยายรูปแบบไปถึงการรักษา การให้ความรู้ การจ่ายยา การติดตามอาการ และที่สำคัญต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพของประเทศและต่างประเทศ ด้วยโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกัน​ทพ.เผด็จกล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการทันตกรรมดิจิทัลได้ในอนาคตอันใกล้สิ่งสำคัญที่สุดของการทำ Digital Health Platform คือความร่วมมือของสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในการเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกัน หากทำได้สำเร็จประโยชน์จะอยู่กับประชาชน ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมาเครือข่ายวิชาชีพทันตกรรมได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครใช้ Line หมอฟันไทยสู้ภัยโควิดขึ้น เพื่อให้คำปรึกษากับประชาชนที่มีปัญหาในช่องปาก ประสานหาคลินิกทันตกรรมกรณีฉุกเฉิน ซึ่งต่อไป Teledentistry จะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้คนไข้ปรึกษาพูดคุยกับทันตแพทย์ ส่งต่อข้อมูลภาพถ่ายรังสีและการรักษาได้ ซึ่งทันตแพทยสภามีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพช่องปากส่วนบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ “Personal Dental Health Record” ที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพช่องปาก รู้ว่าได้รับการรักษาอะไรมาบ้าง รู้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก และมีการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลรวมถึงข้อมูลสุขภาพช่องปากส่วนบุคคลจะเป็นประโยชน์มากในการช่วยพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วย

     รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ข้อมูลบริการที่สภาเภสัชกรรมจะนำเข้าในระบบหมอพร้อม ได้แก่ 1.ข้อมูลร้านยาทั่วประเทศ พิกัดและรายชื่อเภสัชกรที่ปฏิบัติการประจำร้าน 2.ข้อมูลร้านยาคุณภาพที่สภาเภสัชกรรมรับรอง 3.ข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น ร้านยาใกล้บ้านใกล้ใจ ตามโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล และร้านยาที่ร่วมในการให้บริการต้านสร้างเสริมสุขภาพต่าง ๆ เช่น การแจกยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยและ ATK ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น 4.ร้านยาที่ให้บริการ Home Isolation ดูแลผู้ป่วยโควิด 5.ร้านยาเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ ที่ให้บริการการเลิกบุหรี่ ร่วมกับ สสส. 6.Plug in ระบบ Real time pharmacist app. (ร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะที่ค้นหา) 7. ร้านยาที่ให้บริการและให้คำปรึกษาในระบบเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) 8.การเชื่อมต่อร้านยาเข้าเป็นเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข (ในโอกาสต่อไป) และ 9.ข้อมูลความรู้ด้านยาแก่ประชาชน



     ​ทนพ.สมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเทคนิคการแพทย์มีการพัฒนาในระบบหมอพร้อมแล้วหลายเรื่องเดือนมีนาคม 2565 จะพัฒนาระบบการนัดหมายและการแจ้งเตือนใหม่ ผ่านระบบ Hotline Medtech เพื่อรองรับการให้คำปรึกษา TeleATK การบันทึกผลงานวิ่งบางแสน 42 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เริ่มพัฒนา Code TMLT สำหรับการส่งตรวจแล็บจากคลินิกเวชกรรมและรายงานผลแล็บผ่านระบบหมอพร้อม โดยเลือกกลุ่มรายการแล็บตรวจสุขภาพ กลุ่มรายการแล็บที่เกี่ยวกับ Long Covid เพื่อบันทึกผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แสดงผลเป็นประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ และร่วมพัฒนาระบบ MOPH-LAB Laboratory Request Center พัฒนาเชื่อมต่อระบบการส่งข้อมูลแล็บกับหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐ เอกชน สู่โรงพยาบาล โดยมีผู้แทนเทคนิคการแพทย์จากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 เป็นหน่วยบริการนำร่องร่วมกับหมอพร้อม

7 มีนาคม 2565



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต