ชาวเพชรบุรีปลื้มใจ “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ตรวจรักษาคัดกรองคนไข้กว่า 30,000 ราย...

: 13 พ.ค. 62     : แพทยสภา




มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุขและนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์รุ่นที่ 7 (ปธพ.7) จัด “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ให้บริการตรวจรักษา-ผ่าตัดโรคยากซับซ้อน 22 คลินิกเฉพาะทางที่มีคิวรอยาวนาน โดยนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากหลายสถาบันการแพทย์ กว่า 500 คน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ท้องถิ่นขาดแคลน ให้บริการตรวจรักษา-ผ่าตัด

โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ ๑๐-12 พฤษภาคม 2562 ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า และโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี

1. นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 (ปธพ. 7) กล่าวว่า ในนามของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทาง ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ซึ่งจัดโดยนักศึกษา ปธพ.รุ่นที่ 7 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการแสดงพลังการรวมใจแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสาจากภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงานครั้งใหญ่ เพื่อลดการรอคอยของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาและคัดกรองโรคที่ยากและซับซ้อนในจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ได้มีการเตรียมการมากว่า 6 เดือน เริ่มจากสำรวจความเจ็บป่วยและความต้องการในพื้นที่ก่อนวางแผนจัดคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆจำนวน 22 คลินิก และ 1 คลินิกกฎหมาย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับ สหสาขาวิชาชีพกว่า ๑,๐๐๐ คน จากหลายโรงพยาบาลอาทิ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี สถาบันประสาท และ โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำหลายแห่ง ที่จะมาตรวจรักษาให้แก่ประชาชนจำนวนกว่า 30,000 คน ทางคณะนักศึกษาต้องขอขอบคุณจิตอาสาทุกท่านที่ร่วมในกิจกรรมครั้งใหญ่เพื่อผู้ป่วยจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

2. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ในนามตัวแทนของประชาชนจังหวัดเพชรบุรี รู้สึกปลาบปลื้มและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 7 เพื่อร่วมจัด “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2562 ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า และโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานโครงการฯ และ ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา เป็นประธานร่วม ขอต้อนรับจิตอาสาทุกท่าน ที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมอบโอกาสทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนจังหวัดเพชรบุรี ให้มีโอกาสรับการรักษาและคัดกรองโรคที่มีความยากและซับซ้อน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องรอคิวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยาวนาน โครงการนี้นำมาซึ่งโอกาสในการมีชีวิตยืนยาวของผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี สร้างขวัญกำลังใจแก่สมาชิกในครอบครัว และช่วยเหลือครอบครัวที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทาง จำนวนหลายพันครอบครัว “ที่สำคัญนับเป็นการรวมพลังจิตอาสา จากหลายเหล่า หลากสังกัด มาผนึกกำลังกันเป็นจิตอาสา เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยในโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางฯ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับเป็นวาระพิเศษอันเป็นที่ปลื้มปิติของปวงชนชาวไทยทุกคน และเป็นโอกาสของชาวเพชรบุรีที่จะได้ร่วมกิจกรรมพัฒนาด้านสุขภาพ ขยายโอกาสในการรับการตรวจรักษาและคัดกรองโรคต่างๆ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โรงพยาบาลและชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุข ที่เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีของประชาชนต่อไป”

3. พลตำรวจตรี พญ. พรเพ็ญ บุนนาค ประธานดำเนินงานโครงการแพทย์อาสาฯ ปธพ. 7 กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” เกิดขึ้นได้โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อลดระยะเวลาในการรอคิวเข้ารับการรักษาและคัดกรองโรคเฉพาะทางของผู้ป่วยในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ตามโรคที่สำรวจความต้องการพื้นที่มาล่วงหน้าโดยจัดคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆจำนวน 22 คลินิก อาทิ คลินิกมะเร็งเต้านม (Mammography) คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกศัลยกรรมส่องกล้อง คลินิกตรวจพัฒนาการเด็ก คลินิกตวรจสุขภาพพระสงฆ์ คลินิกตรวจโรคทั่วไป คลินิกทันตกรรม คลินิก CPR คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ คลินิกแพทย์แผนไทยและฝังเข็ม คลินิกส่งเสริมสุขภาพ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกอุปกรณ์การแพทย์ คลินิกรับบริจาคโลหิต คลินิกโรงเรียนพ่อแม่ คลินิกหัวใจ และหลอดเลือด คลินิกหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ คลินิกผิวหนัง คลินิกเด็กโรคหัวใจ คลินิกสูตินรีเวช คลินิกจักษุ คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง และคลินิกกฎหมาย เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับประชาชนที่เดือดร้อน เป็นต้น ในเดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน ได้ดำเนินการตรวจรักษาล่วงหน้าไปแล้ว เช่น คัดกรองวัณโรคจำนวน 4,008 ราย ผ่าตัดข้อเข่าเทียม 10 ราย ตรวจสายตาประกอบแว่น 113 ราย ทำฟันปลอมทั้งปาก 9 ราย พัฒนาการเด็กอบรม trainer 150 คน คัดกรองมะเร็งเต้านม 120 ราย คัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ 5,813 ราย ศัลยกรรมส่องกล้อง 111 ราย และคลินิกเด็กโรคหัวใจ 17,000 ราย และระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2562 ได้ดำเนินการตรวจรักษา คลินิกพัฒนาการเด็ก 60 ราย คลินิกจักษุ 600 ราย สอน CPR 2,560 ราย คลินิกส่งเสริมสุขภาพ 100 ราย คลินิกสูตินรีเวช 20 ราย คลินิกแพทย์แผนไทย 140 ราย และคัดกรองวัณโรค 1,500 ราย ขณะนี้ตรวจรักษาและคัดกรองโรคคนไข้ไปกว่า 30,000 ราย ซึ่งยังไม่รวมกิจกรรมในวันนี้

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ยังมีกิจกรรม มอบเครื่องช่วยชีวิตกระตุกหัวใจ AED มอบอุปกรณ์การแพทย์แก่พระภิกษุสงฆ์ อีกด้วย

4. คุณสิริเกศ จิรกิติ ประธานกิจกรรมหน่วยสนับสนุนแพทย์อาสาฯ กล่าวว่า“โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ที่ท่านประธาน ปธพ.7 ได้รายงานไปแล้วว่า ภารกิจที่สำคัญ นอกจากการให้บริการตรวจรักษาและคัดกรองโรค เพื่อลดคิวการรอคอยให้เหลือเป็นศูนย์ ในการดำเนินโครงการฯ ยังมีกิจกรรมจากอีกหลายหน่วยงาน ที่ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจร่วมสนับสนุน โดยผู้ที่มารับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ในการจัดเตรียมสถานที่ กิจกรรมบนเวที อาหาร เครื่องดื่ม การเดินทาง ที่พัก การจัดงานพิธีเปิด การประชาสัมพันธ์ และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลโครงการ เป็นภารกิจของนักศึกษาในหลักสูตร ปธพ.7 ฝ่ายสนับสนุนแพทย์อาสา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงที่เป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมด้วยช่วยกันดูแลจนสามารถมอบบริการทางการแพทย์ให้กับคนไข้นับ 30,000 ราย ได้ครบถ้วน

“กิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของชาวจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงที่จะได้รับการดูแลสุขภาพจากแพทย์เฉพาะทางเทียบเท่าศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงออกถึงสัญญาณแห่งความรัก ความสามัคคี และพลังของจิตอาสาในกลุ่มคนไทยทุกหมู่คณะ เพื่อร่วมกันช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ยกระดับการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ให้ผู้รับบริการทุกคนกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม และได้รับการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงยากครบวงจร”

โครงการฯ ยังได้รับความสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย จากหลายองค์กรเข้ามาร่วมกิจกรรม อาทิ กลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เครือสหพัฒนพิบูล เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ร้านธงฟ้าจากกระทรวงพาณิชย์ กิจกรรมแนะนำกฎหมายที่เป็นประโยชน์จากสำนักงานอัยการสูงสุด กิจกรรมมอบอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ

ทั้งนี้ ยังมีการมอบอุปกรณ์กีฬา จำนวน 10 ชุดให้กับโรงเรียนต่างๆ และมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลน กว่า 200 ทุน ให้กับโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ 60 ทุน โรงเรียนเขาย้อยวิทยา 30 ทุน โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย 50 ทุน และโรงเรียนอนุบาลเพชรบุรี 50 ทุน และโรงเรียนผู้พิการตลอดจนกิจกรรมบนเวที ของที่ระลึก โรงอาหาร และบูธให้ความรู้ต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

คณะนักศึกษาปธพ. 7 ขอขอบคุณแพทย์และเจ้าหน้าที่จิตอาสาทุกท่าน ที่สละแรงกาย แรงใจที่เตรียมงานล่วงหน้าสำหรับโครงการนี้กันอย่างดีเยี่ยม ขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั้งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าและโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ ที่เป็นสถานที่หลักในการจัดกิจกรรม ขอบคุณทุกหน่วยราชการในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โรงพยาบาลชุมชน ทหาร ตำรวจ เทศบาล สถาบันราชภัฎ คณะสื่อมวลชน ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน และภาคประชาสังคม ที่ต่างร่วมผนึกกำลังกัน อำนวยความสะดวก และร่วมสื่อสารให้แก่ประชาชนได้รับทราบถึงกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่

5. ศาสตราจารย์ เกียรติคุณนพ. เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562”เป็นโครงการต่อเนื่องของมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ที่ได้รับพระราชานุญาตให้ดำเนินการโดย นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 โดยจะจัดขึ้นปีละ ๑ จังหวัด ตามแนวคิดภายใต้หลักการนำหมอไปหาคนไข้ โดยนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากเมือง ไปต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ให้ตรงความต้องการของชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางเข้ายังเมือง และนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปถ่ายทอดให้กับแพทย์ในต่างจังหวัด พร้อมทั้งการนำเครื่องมือระดับสูงต่างๆ ที่พื้นที่ขาดแคลนเพื่อลงไปช่วยในการวินิจฉัย ตรวจรักษาและคัดกรองโรค และนำไปสู่ความเชื่อมโยงประสานงานความช่วยเหลือแบบเครือข่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน แต่คนละสังกัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน กับ ๔ เสาหลักทางการแพทย์ ในหลักสูตร ปธพ. คือ ๑.อาจารย์โรงเรียนแพทย์ ๒.แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ๓.แพทย์ทหาร ตำรวจ และภาครัฐอื่น และ ๔.แพทย์ภาคเอกชน โดยนักศึกษาแต่ละรุ่นจะดูแลรุ่นละจังหวัด ปัจจุบันได้มีการออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ไปแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ ๑.อยุธยา ๒.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ๓.กาญจนบุรี, ๔.นครราชสีมา ๕.ปราจีนบุรี ๖.ลพบุรี ครั้งนี้เป็นจังหวัดที่ 7. จังหวัดเพชรบุรี มีคนไข้ได้รับการดูแลรักษาไปแล้ว กว่า 6๐,๐๐๐ ราย โดยในแต่ละโครงการจะมีคลินิกเฉพาะทางแตกต่างกันตามความต้องการของพื้นที่ ที่จะออกสำรวจและประเมินผลก่อน ๖ เดือน และมีการติดตามผลต่อภายหลัง โดยหลายกรณีมีการส่งตัวเข้ารักษา เข้าผ่าตัดในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการแล้วส่งตัวกลับไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากมีการร้องขอเพิ่มเติมในภายหลังว่า จังหวัดที่ได้รับการดูแลต้องการการสนับสนุนเรื่องใด ก็จะมีการจัดหน่วยไปช่วยอย่างต่อเนื่องภายหลัง

นอกจากนี้ มูลนิธิยังมีโครงการอื่นที่ดำเนินการ อาทิ

๑.การออกหน่วยไปยังโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก เรียกว่า แพทย์อาสา ปธพ.สัญจร จะสำรวจและลงไปแก้ไขปัญหา ขนาดเล็กกว่า คือ ๓-๕ คลินิกที่ต้องการ เป็นหน่วยย่อยออกจาก ปธพ. สนับสนุนโดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์

๒.การออกหน่วยไปยังจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อช่วยผ่าตัดที่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์โดยอาจารย์แพทย์ ร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

๓.การออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ที่ท้องสนามหลวง ๑๐๙ วันในช่วงบำเพ็ญพระราชกุศล และ อีก ๙ วันในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่นักศึกษา ปธพ.จัดทีมแพทย์อาสาไปช่วยกันดูแลประชาชน ตรวจรักษาคนไข้ไปกว่า ๔๐,๐๐๐ คน

๔.การจัดทำโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะนอกกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๔๐๐ โรงพยาบาล เชื่อมโยงกับ แก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชนก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลโรงพยาบาลคุณธรรมในกระทรวงสาธารณสุข 1,000 แห่ง และในปีนี้ทางมูลนิธิจะจัดประชุมวิชาการต่อยอดและสนับสนุนโรงพยาบาลคุณธรรมต้นแบบและ ถอดบทเรียน Best Practice ต่อไป

๕.โครงการตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ถวายความรู้ ตลอดจนสนับสนุนวิชาการทางการแพทย์ให้พระคุณเจ้า นำไปปฏิบัติ เพื่อสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งถ่ายทอดไปยังญาติโยมต่อไป หากอาพาธ ในระยะเริ่มต้น ได้ส่งแพทย์ไปรักษา ซึ่งโครงการนี้ได้รับอนุโมทนาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชในปีที่ผ่านมาขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 12 วัด

๖.โครงการจัดอบรมถวายความรู้ทางวิชาการของผู้ป่วยวาระสุดท้าย ให้พระสงฆ์กลุ่มอาสา“คิลานธรรม”เพื่อนำไปร่วมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในโรงพยาบาลร่วมกับ ทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีสงบจิตใจได้เห็นผ้าเหลืองในวาระสุดท้ายให้เดินทางไปด้วยความสุข และถวายความรู้พระภิกษุสงฆ์ โดยทีมแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยวาระสุดท้าย ณ โรงพยาบาลชลประทาน ตั้งเป้าไว้ ๑,๐๐๐ รูป เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยวาระสุดท้ายปีละ ๑๐๐,๐๐๐ ราย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

7.โครงการตู้สะพานบุญเพื่อผู้ป่วยวาระสุดท้าย การมอบ“ตู้สะพานบุญ”ให้โรงพยาบาลต่างๆ ในห้องอุบัติเหตุ เพื่อเติมบุญโดยรับบริจาคเสื้อผ้า เครื่องแต่งหน้าศพ หนังสือธรรมะ อุปกรณ์ทางศาสนา อุปกรณ์ให้ผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้ตั้งตัวใน รพ.ทั่วประเทศ และได้ดำเนินการไปแล้ว

6. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา กล่าวว่า ในวาระพิเศษที่มีพิธีอันสำคัญยิ่ง เป็นที่ปลื้มปิติของปวงชนชาวไทย คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโอกาสมหามงคล ของประเทศในนามนายกพิเศษ แพทยสภา องค์กรซึ่งถือเป็นตัวแทนของแพทย์ไทยทุกคน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ ร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ขอพระราชทานพระราชานุญาตเพื่อจัด“โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562”โดยได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดโครงการต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน โดยงานหลักจะอยู่ระหว่างวันที่ ๑๐-12 พฤษภาคม 2562 ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า และ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานโครงการฯ ร่วมกับแพทยสภา และ กระทรวงสาธารณสุข

โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ นับเป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศที่มี “แพทยสภา” เป็นแกนนำ โดยใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายของระบบสาธารณสุขโดยรอบบูรณาการกับทั้ง 5 กระทรวง บริหารจัดการโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 เป็นงานจิตอาสาที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของแพทย์ทั้ง 4 เสาหลัก คือ ผู้บริหารแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข จากภาครัฐคือหน่วยงานแพทย์ 4 เหล่าทัพ และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้บริหารแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแสดงพลังการรวมใจของบุคลากรทางการแพทย์และร่วมกับจิตอาสาภาครัฐและเอกชนทุกคน ผ่านการมีส่วนร่วมของหลายหน่วยงาน เพื่อมอบโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับชาวจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง เพื่อลดคิวของผู้ป่วยที่ต้องรอคอยยาวนาน ลดการเดินทางเข้าสู่โรงเรียนแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ให้ได้รับบริการจบในขั้นตอนเดียวในพื้นที่ โดยการนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกไปรักษา ซึ่งได้ออกหน่วยเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน ในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องขอขอบคุณจิตอาสาผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่เข้ามาร่วมรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด กับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ เพื่อเป็นการร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

7.นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะองค์กรร่วมกับแพทยสภาจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในเรื่องธรรมาภิบาลแก่ผู้บริหารสายแพทย์และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ของภาครัฐและเอกชน โดยนำ “ธรรมาภิบาล” ไปสู่การปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาด้านการแพทย์ของประเทศ ผ่านงานวิจัย และการสร้างกิจกรรมจิตอาสา “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562” เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนในหลักสูตรของแพทยสภา และเป็นการแสดงพลังจิตอาสาของนักศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้กับคนในท้องถิ่น ซึ่งทางสถาบันพระปกเกล้ายินดีสนับสนุน และร่วมเป็นเจ้าภาพทุกปี ซึ่งนับเป็นกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับทางสถาบันเป็นอย่างมาก สถาบันขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในโครงการทุกท่าน ในวาระพิเศษอันเป็นที่ปลื้มปิติของปวงชนชาวไทยทุกคน

8.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562” เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งพระองค์ทรงคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยเป็นอย่างมาก แพทยสภาจึงร่วมกับ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมจิตอาสาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 (ปธพ.7) โดยจะออกหน่วยแพทย์อาสา ตรวจรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปจนถึงโรคซับซ้อนขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 10- 12 พฤษภาคม 2562

ในนามของนายกแพทยสภา ถือเป็นโครงการสำคัญของแพทยสภาที่ได้ถือกำเนิดขึ้น หลังจากวงการแพทย์ได้รับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร เป็นแนวทางการแก้ปัญหาวงการแพทย์ไทยคือ “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร”ถูกนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า น้อมนำธรรมาภิบาลเป็นหลักในการศึกษา ดูงานพื้นที่จริง นำมาวิเคราะห์ วิจัย การแก้ปัญหาวงการแพทย์ไทย ทั้ง ๔ เสาหลัก ด้วย แนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และนำมาสู่ภารกิจ “เสียสละ” คือการออกหน่วยแพทย์อาสา เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้เจ็บป่วยและเข้าใจกลไกการรักษาพยาบาลในบริบทของประเทศไทยด้วยตนเอง และเกิดผลในการรักษาต่อประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย แบบเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอด 6 ปี ดูแลผู้ป่วยไปกว่า ๖๐,๐๐๐ ราย และสร้างความเข้าใจให้กับท่านผู้บริหารที่เป็นนักศึกษาไปกว่า ๗๐๐ คน ซึ่งโครงการในวันนี้ มีคลินิกเฉพาะทางเกิดขึ้น 22 คลินิก และ ๑ คลินิกกฎหมาย เชื่อว่าจะดูแลคนไข้ได้กว่า ๓๐,๐๐๐ คน และเพื่อพัฒนาเป็นโครงการเครือข่ายที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต แพทยสภาขอขอบคุณแพทย์อาสาเฉพาะทางและหน่วยงานทุกแห่งที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

9.พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวว่า การจัด “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ในครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษอันสำคัญยิ่งที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต หลังจากที่มูลนิธิได้ออกหน่วยแพทย์อาสาใน “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมา ๒ ปี ติดต่อกันดูแลผู้ป่วยกว่า สามหมื่นคนไปแล้ว โครงการนี้จึงเป็นการออกหน่วยครั้งที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน และครั้งที่ ๗ ของหลักสูตร

การออกหน่วยแพทย์อาสาดังกล่าวเป็นกิจกรรมหลักของหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ฯ ที่มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับหลายหน่วยงาน มีการดำเนินการติดต่อกันมาทุกปี โดยหมุนเวียนออกหน่วยไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาในระดับตติยภูมิให้กับประชาชนในต่างจังหวัด ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ล้วนต้องเดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรอคอยคิวพบแพทย์ยาวนาน โครงการนี้จึงตั้งเป้าหมายให้คิวการรอรักษาโรคยากให้เหลือเป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการสำรวจ คัดกรอง ผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อหาผู้ป่วยที่ตกค้าง และส่งทีมแพทย์เข้าไปให้การรักษา

โครงการนี้ยังเป็นการซ้อมจัดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือจากแพทย์ทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดความจำเป็นในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากราชวิทยาลัยฯ โดยแพทย์เฉพาะทางไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดโดยตรง การให้ความรู้กับ อสม. พระสงฆ์ จิตอาสา ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงและสังกัด

สำหรับการจัดโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ โดยหลักสูตร ปธพ.ในอดีตที่ผ่านมาทั้ง ๖ ครั้งนั้น ได้ให้การรักษาคนไข้ในระดับตติยภูมิไปแล้วราว ๖๐,000 ราย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา และ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เนื่องด้วยปีนี้เป็นวาระพิเศษมหามงคล ในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมมากกว่า ๕๐๐ คน ประชาชนจิตอาสามากกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยนำเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจรักษาและคัดกรองคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า ๒๐๐ ล้านบาทใน ๒๒ คลินิก และมีประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า ๓๐,๐๐๐ ราย

ในการนี้ผมในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรปธพ. เลขาธิการแพทยสภา และเลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ขอขอบคุณแพทย์เฉพาะทางและจิตอาสาทุกท่าน ตลอดจนนักศึกษาในหลักสูตรตั้งแต่ รุ่นที่ ๑ ถึง รุ่นที่ 7 รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาชน ในโครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติฯ มาตลอด ๗ ปีโดยได้รับความสำเร็จเรียบร้อยด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต