แพทยสภา มอบรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภา 2557

: 26 พ.ย 57     : แพทยสภา


 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2557  เวลา 08.30 น. ในงาน มหกรรมรวมพลคนรักสุขภาพ 2557 (Thailand Medical Expo2014 ) ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2557 จำนวน 4 ท่าน ได้แก่

1.    ศาสตราจารย์แพทย์หญิงบุญมี สถาปัตยวงศ์  แพทย์ดีเด่นสาขาอาจารย์

2.    แพทย์หญิงพรจิต ประพิณวณิชย์  แพทย์ดีเด่นสาขาผู้บริหาร

3.    นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร  แพทย์ดีเด่นสาขาผู้บริหาร

4.    นายแพทย์วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์    แพทย์ดีเด่นสาขาผู้ปฏิบัติงาน 

 

สำหรับแพทย์ดีเด่นแพทยสภา นั้นเป็นประจำทุกๆ ๒ ปี คณะกรรมการแพทยสภาจะมีการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา เพื่อประกาศเกียรติคุณให้สาธารณชนได้รับทราบถึงการทำงานของแพทย์ที่ปฏิบัติดีเด่น ทางด้านการครองตน ครองคน และครองงานโดยในปีนี้คณะอนุกรรมการสรรหาแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา โดยมี นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาสรรหาแพทย์ดีเด่นไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ราชวิทยาลัย และสมาคมชมรมวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพด้านการแพทย์ ประมาณ ๑,๑๒๐ แห่ง ในจำนวนนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้แบ่งกลุ่มรายชื่อบุคคลที่เสนอแพทย์ดีเด่นมายังแพทยสภา ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริหาร โรงพยาบาล อาจารย์แพทย์ โรงเรียนแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานทั่วไปและเกษียณอายุ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก คณะอนุกรรมการฯ จะเดินทางไปสัมภาษณ์ รวบรวมข้อมูล และเยี่ยมชมสถานที่ปฏิบัติงานจริงของแพทย์ที่ได้รับการคัดเลือก โดยแพทย์ดีเด่นแพทยสภาประจำปี ๒๕๕7 ได้รับคัดเลือกนั้น มีจุดเด่นด้านการครองตน ครองคน และครองงาน ดังนี้

 

1.    ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงบุญมี สถาปัตยวงศ์ แพทย์ดีเด่นแพทยสภา พ.ศ. 2557 สาขาอาจารย์

 

เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2494 อายุ 63 ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยในสายวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2515 จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1  จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดลสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทองเมื่อปี พ.ศ.2517 จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วศึกษาฝึกอบรมต่อจนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรศาสตร์และโรคติดเชื้อ  จากนั้นก็ได้เริ่มชีวิตการเป็นอาจารย์แพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525  ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภา

          การครองตน ศ.พญ.บุญมี เป็นคนขยันสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ออกกำลังกายดูแลสุขภาพสมวัย เป็นคนมีคุณธรรมสูง ซื่อสัตย์ มีความเที่ยงตรง ยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงโดยเฉพาะกับบริษัทยาซึ่งเป็นที่ชื่นชมของผู้ร่วมงานและลูกศิษย์ เป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ตลอด มุ่งมั่นและทุ่มเทต่อการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของการแสวงหาข้อมูลและความรู้จนแก้ปัญหาหรือข้อสงสัยจนสำเร็จ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดี ศ.พญ.บุญมี ท่านอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น ดูแลพี่สาว และอุปการะหลานๆจนทุกคนจบการศึกษาและมีครอบครัวแล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยดูแลพี่สาวในช่วงอุทกภัยปี2554

การครองคน ท่านเป็นคนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือผู้อื่นบนพื้นฐานความถูต้องไม่ว่าจะเป็นคนไข้ ลูกศิษย์หรือผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะผู้ร่วมงานเมื่อยามเจ็บป่วย ท่านจะช่วยเหลือและเป็นธุระประสานให้ทั้งในภาควิชาและต่างภาควิชา เพื่อได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจนเป็นที่กล่าวถึงอย่างภาคภูมิของผู้ร่วมงานในความเมตตาที่อาจารย์มีต่อผู้ร่วมงาน และเป็นอาจารย์คนแรกของภาควิชาที่มีของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึงเป็นประจำทุกปี

 ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมที่เป็นจุดเด่นของท่าน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาความเห็นที่ไม่ขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่คนในภาควิชาร้องขอให้ท่านมาช่วยบริหารจัดการในตำแหน่งผู้บริหาร และท่านสามารถทำได้สำเร็จด้วยดีเพราะความเชื่อถือและความไว้วางใจที่ผู้ร่วมงานมีต่อตัวท่าน

การครองงาน  ในด้านการสอน ท่านตั้งใจทุ่มเท  สอนให้ลูกศิษย์คิดเป็นโดยการตั้งคำถามเป็นระบบ แล้วให้แสวงหาข้อมูลความรู้มาอธิบาย บ่อยครั้งที่ลูกศิษย์มีข้อมูลไม่เพียงพอและไม่ได้ใช้ความพยายามเท่าที่ควร อาจารย์บุญมีจะแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างในการค้นหาข้อมูล ความรู้มาอ้างอิงด้วยความตั้งใจและแสดงให้เห็นถึงความพยายามเพื่อสอนศิษย์ให้เห็นถึงความเพียรที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ

ท่านมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ทุ่มเทเวลาในการสอนจนถึงเวลาค่ำหนึ่งถึงสองทุ่มเป็นประจำจนกว่าจะแก้ปัญหาผู้ป่วยได้สำเร็จ จึงเป็นการเรียนที่ลูกศิษย์ได้ทั้งความรู้ จริยธรรม การคิดและความเพียร   และยังมีความเมตตา เอื้ออาธรต่อนักศึกษาแพทย์ที่มีปัญหาในการเรียน โดยการพูดคุย ให้คำแนะนำ หรือเชิญผู้ปกครองมาช่วยแก้ปัญหา และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการจัดหาหนังสือ ตำรา ให้ห้องสมุดของคณะแพทย์ฯเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย 

          ดังนั้นเมื่อท่านรับงานบริหารด้านการศึกษา หลายตำแหน่งตั้งแต่การเป็นกรรมการในและนอกคณะแพทย์ เป็นผู้ช่วยคณะบดี รองคณบดีฝ่ายการศึกษา  ท่านจึงทุ่มเทการจัดระบบการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร การสอบ การประเมิน มาตลอดทั้งในระดับคณะแพทย์และของประเทศ เพื่อรักษามาตรฐานของการศึกษาของแพทย์ไทย

        การบริการ ศ.พญ.บุญมี ได้ทุ่มเทให้เวลากับการดูแลผู้ป่วย และมีความเมตตา แก้ปัญหาผู้ป่วยแต่ละคนอย่างเต็มที่ จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าท่านติดตามผู้ป่วยทุกรายทั้งในภาควิชาและที่ปรึกษารักษาต่อในภาควิชาอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย ในการทุ่มเทการทำงานทั้งการสอน การดูแลผู้ป่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จนพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วย การคิด การแก้ปัญหา ความความขยันทุ่มเท ความยุติธรรม การไม่แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ได้เห็นได้สัมผัสและซึมซับสิ่งเหล่านี้ จนส่งผลต่อความคิดที่ดีแก่นักศึกษาแพทย์ที่จบจากคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี

การวิจัยและวิชาการท่านให้ความสนใจและทำงานด้านวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในผู้ป่วย โรคเอดส์โดยเฉพาะในเชื้อกลุ่ม Mycobacterium  avium  complex และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วย มีผลงานการตีพิมพ์ในวารสารในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 60บทความ และที่น่าภูมิใจมากที่สุดคือการเป็นแพทย์คนแรกของโลกที่รายงานการติดเชื้อ Invasive Phythiosis ในผู้ป่วย Thallasemia

 ศ.พญ.บุญมีจึงได้รับการยกย่องให้เป็นอาจารย์ดีเด่นของคณะแพทย์    และอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติจากที่ประชุมประธานสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งรางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านจริยธรรมด้วย

          ในปัจจุบันแม้หลังเกษียณจากราชการแล้ว อาจารย์ยังบรรยายให้กับนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งการ Conference ; Journal club ของแพทย์ประจำบ้านเป็นประจำ

          จึงกล่าวได้ว่า ศ.พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ได้ทำหน้าที่ในฐานะอาจารย์โรงเรียนแพทย์ได้อย่างครบถ้วนทั้งด้านการสอน การบริการและการวิจัย ซึ่งถือเป็นแบบอย่างของอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยที่ดี จึงเป็นความภาคภูมิใจของแพทยสภาที่จะมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น สาขาอาจารย์ ประจำปี 2557ให้แก่ศ.พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์                

 

2.    แพทย์หญิงพรจิต ประพิณวนิชย์  แพทย์ดีเด่นแพทยสภา พ.ศ. 2557 สาขาผู้บริหาร                          

 

เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2496 อายุ 61 ปี  จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนเป็นอันดับสอง ของประเทศในสายวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2514สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี  ผลงานดีเด่นของท่านคือการพัฒนาโรงพยาบาลปัตตานีจนได้บริการที่ดีมีคุณภาพ และได้รับรางวัลแพทย์สตรีดีเด่นสาขาบริการดีเด่นประจำปี 2547 ท่านดูแลคนไข้ทุกระดับเป็นอย่างดี อีกทั้งส่งเสริมบุคลากรของโรงพยาบาลให้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการตั้งชมรมจริยธรรมในโรงพยาบาลพร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ

การครองตน ท่านมีครอบครัวที่อบอุ่น สมรสกับ นพ.ศิริพงษ์ จันทรัศมี มีบุตร-ธิดาอย่างละคน ซึ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีหน้าที่การงานดี กตัญญู ดูแลพ่อ-แม่ดี ท่านเป็นคนที่วางตัวดี เหมาะสมกับกาลเทศะ ดูแลสุขภาพดี ทำให้มวลกายอยู่ในเกณฑ์คงที่ ไม่เคยเจ็บป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตนภายในกรอบของจรรยาบรรณและกฎหมาย ไม่มีปัญหาการร้องเรียนทั้งด้านส่วนตนและการบริหารงาน ท่านเป็นคนเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา  เป็นคนที่มีวินัยสูง มุ่งมั่นและติดตามรับผิดชอบงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นคนที่ใฝ่รู้ ศึกษาต่อด้านกฎหมายและการบริหารงาน พร้อมทั้งนำความรู้มาถ่ายทอดให้ผู้ร่วมงาน

 

การครองคน ท่านให้เกียรติ์ผู้ร่วมงาน สื่อสารสร้างความเข้าใจได้ดีไม่เลือกปฏิบัติทั้งผู้ร่วมงานและผู้รับบริการไม่ว่าเชื้อชาติ และศาสนา ทำให้คนอยากร่วมงานด้วย  สามารถสร้างทีมงานได้ดีทั้งระดับบริหารและระดับทีมปฏิบัติงาน ท่านเป็นคนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ความช่วยเหลือภายใต้ความถูกต้อง ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชายามเจ็บป่วยเป็นอย่างดี ส่งเสริมผู้ใต้บังคับบัญชาในการพัฒนาตนและพัฒนางาน  ส่งเสริมคนดี มีการให้รางวัลดีเด่นแก่ลูกจ้างชั่วคราว และประกาศเกียรติคุณผลงานดีเด่นของข้าราชการเป็นประจำเพื่อสร้างวัฒนธรรมของ “คนดีศรีโรงพยาบาลปัตตานี” ด้วยความเชื่อมั่นที่เห็นในตัวผู้อำนวยการที่มุ่งมั่นในการพัฒนาโรงพยาบาลปัตตานี ทำให้คหบดีในจังหวัดบริจาคหอผู้ป่วยพิเศษทั้งอาคาร ราคา 37 ล้านบาท นอกจากนี้ยังบริจาคสร้างสะพานที่เชื่อมต่อบ้านพักกับโรงพยาบาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาดูแลผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น  รวมทั้งบริจาคเครื่องมือแพทย์

 

การครองงาน พญ.พรจิต บรรจุรับราชการครั้งแรกที่โรงพยาบาลปัตตานี ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเวลา 17ปีที่ได้สร้างความเชื่อถือและมีผลงานจนได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเวลา 4 ปีจึงย้ายกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานีตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนเกษียณในปี พ.ศ. 2556  เป็นเวลา 10 ปี ภารกิจของโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ที่ปกระกอบด้วยงานหลักๆ 3 ด้าน คือ การบริหาร พญ.พรจิต ได้พัฒนาโรงพยาบาลปัตตานี บนเนื้อที่ 25ไร่ มีการวางผังหลักของโรงพยาบาลได้ดีตามมาตรฐานของโรงพยาบาลทั่วไป สามารถขยายการรองรับบริการประชาชนจาก 300กว่าเตียง เป็น 500 เตียง รวมทั้งมีหอผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วย มีครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จัดหาโดยเงินงบประมาณ เงินบำรุงและที่ได้จากการบริจาค รวมทั้งการจัดหาเครื่องมือราคาแพงโดยการเช่าใช้ เช่น CT scan  เครื่องสลายนิ่ว  เป็นโรงพยาบาลแรกใน 3จังหวัดภาคที่มีเครื่อง Arthroscopeพญ.พรจิต ยังบริหารให้สถานะการเงินของโรงพยาบาลเป็นบวกมีความมั่นคงและเพื่อใช้พัฒนาโรงพยาบาลทั้งระบบ ซึ่งเป็นความสามารถางการตั้งแต่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์

          ในด้านการบริการ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ที่สำคัญ คือสามารถลดจำนวนการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่สูงกว่าได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนการรับมารักษาต่อในโรงพยาบาลปัตตานีเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อถือที่ประชาชนและชุมชนมีต่อโรงพยาบาลมากขึ้น ปัญหาการร้องเรียนน้อย จากการที่ได้พัฒนาทั้งคน ระบบบริการ ส่งผลให้โรงพยาบาลได้ผ่านการรับรองคุณภาพและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและผ่านการ Reaccredit   นอกจากนี้ยังทำให้โรงพยาบาลปัตตานี ผ่านมาตรฐานโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ระดับทองตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน ผ่านมาตรฐานงานบริการพยาบาล ห้องปฏิบัติการ งานเภสัชกรรมจากสมาคมวิชาชีพ และผ่านมาตรฐานงานโภชนาการ จากจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งแรกของภาคใต้ โรงพยาบาลปัตตานีได้รับรางวัล”ความเสียสละอย่างมีอุดมการณ์ ของหน่วยงานใน 3จังหวัดภาคใต้”  จากสำนักงาน ก.พ.ร.ในปี 2555

        ในด้านวิชาการ ตัวท่านเองมีผลงานวิชาการจำนวน 4ฉบับ และเมื่อเป็นผู้บริหารได้ส่งเสริมบุคคลากรให้มีการพัฒนาวิชาการในระดับพื้นที่ ระดับกระทรวง และได้จัดสรรเงินสวัสดิการสนับสนุนในการพฒนาวิชาการและงานวิจัย จนเกิดผลงานดีเด่น คือการสนับสนุนแพทย์ Orthopedics ในการผลิต External fixator  เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยกระดูกหักโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จนได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และประเทศ

แพทย์หญิงพรจิต แม้พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ได้ทำงานใน 3จังหวัดภาคใต้ตลอด ชีวิตราชการบนความทุมเท เสียสละ เป็นที่ยกย่องของสังคมโดยมีหลักฐานประจักษ์มากมาย เช่น ปี 2547 ได้รับรางวัลแพทย์สตรีดีเด่น สาขาบริการดีเด่น จากสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

          ปี 2552 ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่นและเปี่ยมคุณธรรม จากสมาคมนักบริหารสาธารณสุข

          ปี 2552 ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นอันดับ 1 ด้านคุณธรรมจริยธรรม จากกระทรวงสาธารณสุข

          ปี 2555 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชดีเด่น  สาขา ผลงานดีเด่นเป็นที่ยกย่องเชิดชู

          ปี 2556 ได้รับรางวัล ตาราอวอร์ต (TARA  ward) รางวัลสำหรับคนปลุกหัวใจสังคมด้วย “หัวใจพระโพธิสัตย์” จากเสถียรธรรมสถานและสาวิกาสิขาลัย และยังได้รับรางวัลระดับจังหวัดและระดับพื้นที่อีกมากมาย

          แพทย์หญิงพรจิต ประพิณวนิชย์ ได้ดำรงชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ที่ตนยึดถือตามหลักคำสอนของพระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สองประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ฯ” ซึ่งท่านได้ปฏิบัติมาตลอดกว่า 30 ปีจนเป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นความภาคภูมิใจของแพทยสภาที่จะมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น สาขาผู้บริหาร ประจำปี 2557ให้แก่ แพทย์หญิงพรจิต ประพิณวนิชย์

    

 

3.    นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร แพทย์ดีเด่นแพทยสภา พ.ศ. 2557 สาขาผู้บริหาร                                               

                               

เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2504 อายุ 53 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่  ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Child First work Together เพื่อพัฒนางานบริการของหน่วยงานด้วยการบูรณาการงาน,การวิจัย และพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรอง ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ขวบ,จัดทำห้องสมุดของเล่นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา,จัดทำโครงการดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญา และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ, จัดทำโครงการคลินิกละคร และดนตรีบำบัดสำหรับเด็กพัฒนาล่าช้า

การครองตน นพ.สมัย เป็นคนที่สนใจสังคม และบุคคลรอบตัว ใส่ใจ ครองตนอยู่ในศีลธรรม วางตัวเหมาะสม เป็นกันเอง ตรงไปตรงมา มีอารมณ์ขัน แต่มุ่งมั่นและทุ่มเทต่องานจนคนรอบข้างที่ทำงานด้วยมีความกระตือรือร้นตามไปด้วย  เป็นคนที่ใฝ่รู้ก้าวทันโลกชอบคิดและมีนวัตกรรมใหม่ๆเสมอ

 ปัจจุบันท่านอายุ53 ปี ดูแลสุขภาพดี ออกกำลังกายเป็นประจำด้วยการว่ายน้ำหรือวิ่งออกกำลังกาย  ท่านเป็นพ่อหม้าย ดูแลบุตรสาว 2 คนให้เติบโตอย่างอบอุ่น และมีการศึกษาที่ดี

 

การครองคนนพ.สมัย เป็นคนที่มีน้ำใจกับคนรอบข้าง เมื่อเจ็บป่วยจะดูแล ไปเยี่ยม ให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือผู้อื่นบนความสามารถและความถูกต้อง  ท่านเป็นคนที่เข้ากับคนง่าย  เป็นกันเอง จริงใจ ท่านจึงมีเครือข่ายมาก รวมทั้งคนที่อยากร่วมทำงานด้วยจำนวนมาก  มีความหวังดีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชาท่านจะเปิดโอกาสให้พัฒนาตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา  เฉกเช่นเดียวกับตัวท่านเอง ซึ่งแสดงถึงการมีเมตตาธรรมของผู้บริหาร ท่านมีความสามารถในการบริหารการเงินการคลังได้ดี สามารถ สร้างความมั่นคงให้กับองค์กรและให้ค่าตอบแทนตามภาระงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เต็มที่ตามระเบียบ ท่านเป็นคนที่คิดดี วิเคราะห์เก่ง ตัดสินใจได้รวดเร็วซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ร่วมงานตามความคิดตามไม่ทัน แต่ลึกๆท่าน เป็นนักประชาธิปไตยยอมรับความเห็นของผู้อื่นหากถูกต้องและดีกว่า

ท่านเป็นคนที่ทุ่มเทกำลังกาย สติปัญญา และเวลาให้กับงานอย่างมาก จนผู้ร่วมงานทั้งคนไทยและต่างชาติพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเอาพลังงานจากไหนมาทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

การครองงานท่านเป็นคนที่คิดดี เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักนวัตกรรม นักพัฒนาตัดสินใจได้รวดเร็ว มุ่งมั่นทุ่มเทต่องานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มีเครือข่ายมากจนสามารถสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย ผลงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ท่านคิด ริเริ่มเองเกือบทั้งหมด เช่น ขั้นพื้นฐานที่คิดปรับปรุงสถานที่ให้น่าอยู่  น่าทำงาน  มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยในการพัฒนาการผู้ป่วยหลายๆวิธีการ  จนปัจจุบันมีอาคารต้นแบบเพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการพัฒนาเด็กแห่งแรกของประเทศไทยที่สวยงาม ทันสมัย  สถาบันการพัฒนาการเด็กราชนครินทร์มีห้องสมุดที่นอกจากหนังสือแล้วยังมีของเล่นให้ยืมกลับบ้านเพื่อใช้ในการพัฒนาการเด็กตามภาวะโรค ตามวัย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ห้องสมุดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น จนปัจจุบันมีของเล่นเด็กมากกว่า1,100 รายการ มีของมากกว่า 3,700 ชุด พร้อมทั้งมีการพัฒนาผู้ปกครองให้สามารถผลิตของเล่นที่ช่วยในการพัฒนาการขึ้นใช้เองที่บ้านอีกด้วย

  มีการนำการวาดรูป ดนตรี ละคร มาประยุกต์ใช้ในการรักษาและพัฒนาการผู้ป่วยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากในประเทศและต่างประเทศ

 ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานภายใต้พระนามสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในการเคลื่อนไหว ซึ่งดูแลแบบองค์รวมทั้งกายจิตและสังคม  ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ทั้งรถเข็น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า เก้าอี้สุขภัณฑ์ เป็นต้นรวมทั้งมีบุคคลากรต่างชาติมาช่วยปรับให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งทำมานานกว่า 14ปี จำนวนสิ่งของที่แจกจ่ายไปแล้วมากกว่า 10,000 รายการ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

          นายแพทย์สมัยฯ ยังได้ริเริ่มในการพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆที่มีผลต่อการพัฒนาการเด็กควบคู่กันไป เช่นการพัฒนาผู้ปกครองทั้งความรู้ อาชีพ พัฒนาครู และพัฒนาชุมชน ศูนย์เรียนรู้สำหรับเครือข่าย เพื่อให้มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมดูแลเด็กได้ดีเพื่อกลับคืนสู่ชุมชน เป็นการพัฒนางานเชิงระบบเพื่อความยั่งยืน

 ในส่วนขององค์ความรู้ นพ.สมัย มีผลงานด้านหนังสือหลายเล่มทั้งประเภทเกี่ยวกับการพัฒนาการแก่เด็กที่มีการพัฒนาการช้า   การเสริมสร้าง IQ EQ และ AQ  วารสารวิชาการนานาชาติด้านสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะหนังสือ “ฝ่าฝันให้ถึงฝั่ง คำตอบของแม่ที่มีลูกสมองพิการ” ที่ได้รับการตีพิมพ์ถึงสองครั้งซึ่งครั้งหลังพิมพ์ถึง 35,000 เล่มโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีงานวิจัยจำนวนมากที่สร้างสรรค์ ยึดหลักวิชาการในการทำวิจัย โดยเฉพาะในกลุ่มแบบประเมินการพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 5ปีที่เริ่มจากงานในพื้นที่ สู่เครือข่ายสาธารณสุข ผู้ปกครอง จนถึงระดับประเทศ จนเกิดแบบประเมินและคู่มือในการประเมินและส่งเสริมการพัฒนาเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปีที่เป็นมาตรฐานของเด็กไทยเองเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นผลงานเด่นของชาติจนได้นำเสนอผลงานในระดับนานาชาติ และที่น่าประทับใจคือ นพ.สมัย เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Child First Work Together เป็นการบูรณาการงานบริการของหน่วยงานร่วมกับผู้ปกครอง ชุมชน เครือข่ายต่างๆทั้งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ รวมทั้งมิติของการบูรณาการในการพัฒนาคน เครื่องมือ เพื่อให้เกิดการร่วมมือทุกภาคส่วนที่เดินไปด้วยกันในการคัดกรอง  ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กโดยคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กและความพร้อมของพื้นที่  เพื่อลดจำนวนเด็กที่มีการพัฒนาการล่าช้า  ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ UN Public Service Award ปี 2013ในระดับภาคพื้น Asia-Pacific และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ในต่างประเทศ  เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และประเทศไทย

          นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร จึงถือได้ว่าเป็นผู้บริหารของกรมวิชาการที่ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง  ครบถ้วนตามภารกิจของกรมสุขภาพจิต และเป็นแบบอย่างของแพทย์ที่ดีจึงเป็นความภาคภูมิใจของแพทยสภาที่จะมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น สาขาผู้บริหารประจำปี 2557 ให้แก่ นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร

 

 

4.    นายแพทย์วิทยา  สวัสดิวุฒิพงศ์แพทย์ดีเด่นแพทยสภา พ.ศ. 2557 สาขาผู้ปฏิบัติงาน

         

เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2499 อายุ 58 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปัจจุบันเป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชากลุ่มเวชกรรมสังคมที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก  ท่านเป็นหมอที่มีผลงานดีเด่นรอบด้านทั้งการเป็นนักวิจัย,นักระบาดวิทยา,เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาแก้ไขวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก,เป็นนักพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล

การครองตน เป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนเสียสละเป็นแบบอย่างที่ดี ตรงต่อเวลา เป็นคนง่ายๆแต่มุ่งมั่นต่องานและหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยไม่คิดค่าตอบแทน ดำรงตนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย เช่นใช้จักรยานตั้งแต่ทำงานใหม่ๆและขับรถยนต์เมื่ออายุ40 ปี ไม่เที่ยวเตร่กลางคืน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีความเมตตาเอื้อเฟื้อให้ทุนการศึกษากับนักเรียนยากจนและในเขตทุรกันดาร เป็นประจำ นายแพทย์วิทยาเป็นคนโสด มีความกตัญญู  รับพ่อแม่จากนครปฐมมาดูแลเองที่บ้านพักในโรงพยาบาลแม่สอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต

การครองคน มีความเป็นกันเองรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานทุกระดับสรุปประเด็นปัญหาได้ตรง ชัดเจน วิเคราะห์เป็นระบบ ใช้เหตุผลและข้อมูลในการตัดสินใจ สื่อสารกับคนทุกระดับได้ดี เข้าใจง่าย  ให้กำลังใจ ให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมทั้งสนับสนุนให้ทำงานที่ต้องการ  เป็นคนที่แสดงให้ผู้ร่วมงานเห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงในการทำงาน เป็นแบบอย่างของผู้นำและผู้มีความรับผิดชอบสูงจนเกิดความกระตือรือร้นของทีมงานตามมา ปรากฏผลงานที่เกิดจากความร่วมมือมากมาย และสร้างความเชื่อถือในระดับหน่วยงาน ระดับจังหวัด จนถึงระดับชาติและนานาชาติ

การครองงาน ผลงานของนายแพทย์วิทยามีมากมาย ที่จะนำมากล่าวในที่นี้พอสังเขปดังนี้ ผลงานในระดับหน่วยงานและในพื้นที่ เป็นผู้ริเริ่มโครงการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน เมื่อ25ปีก่อนจนสามารถคัดกรองโรคเรื้อรังได้มากกว่า 80%  รวมทั้งถ่ายทอดทักษะความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสถานีอนามัย(รพ.สต.)ให้สามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งเป็นแบบอย่างการนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายของประเทศในการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน  เป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลสามารถจูงใจคนในองค์กรให้ความร่วมมือ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนำไปสู่การได้รับรองคุณภาพ HA และโรงพยาบาลส่งเสริมคุณภาพ รวมทั้งการผ่านการ Reaccredit อีก2ครั้ง จากการที่เป็นนักระบาดวิทยาที่แท้จริง  ช่างสังเกต ช่างคิดวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เป็นนักปฏิบัติที่ลงมือปฏิบัติเร็ว จนมีผลงานที่ผู้ร่วมงานชื่นชอบ เช่นการหาสาเหตุเครื่องมือผ่าตัดที่เป็นสนิมบ้าง ไม่เป็นสนิมบ้าง จนสรุปได้ว่าเครื่องมือที่เป็นสนิมเกิดจากผ้าห่อเครื่องมือทีถูกซักด้วยน้ำยาฟอกขาว(ไฮเตอร์)  เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ติดตามจนได้บทสรุป ด้วยความที่เป็นนักระบาดวิทยาที่ดีทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็ว เช่นโรคอหิวาตกโรคของอำเภอแม่สอดและอำเภออุ้งผาง  ควบคุมการระบาดของโรคบิดที่อำเภอสามเงา การระบาดของโรคไทฟอยด์ที่ดื้อยาหลายชนิดที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นต้น ได้รับมอบหมายจากสาธารณสุขจังหวัดตากให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลสาธารณสุขชายแดนไทย-พม่า สามารถประสานงานกับผู้บริหารของพม่าระดับพื้นที่ ระดับกระทรวงและระดับรัฐบาลได้อย่างดี  รวมทั้งดูแลศูนย์พักพิงชาวต่างชาติสามศูนย์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดตากซึ่งมีประชากรกนับแสนคนซึ่งมีปัญหาสาธารณสุขที่ซับซ้อน เป็นพื้นที่สูง ห่างไกล กันดาร 

          นายแพทย์วิทยา เป็นผู้นำในการจัดการปัญหาสาธารณสุขในเชิงรุก เช่นการออกแบบงานสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโรค โดยทำ Mapping ของชุมชน หมู่บ้านคู่ขนาน 5อำเภอชายแดนทั้งฝั่งไทยและพม่าเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการออกกิจกรรมสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพประชาชนด้อยโอกาสในการเข้าถีงบริการสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการระบาดของโรคติดต่อ เช่น มาลาเรีย วัณโรค อหิวาตกโรค โรคเอดส์ และโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เพื่อลดการระบาดสู่คนไทย

          นายแพทย์วิทยา ยังได้แก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารแคดเมียมปนเปื้อนในสามตำบลของอำเภอแม่สอด โดยการศึกษาเป็นเวลากว่า 10ปีทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งหมื่นคน มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้ความรู้ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดภาวะไตวายและกระดูกพรุน จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและได้รับความร่วมมือรวมทั้งการสนับสนุนจากผู้ประกอบการทำเหมือง  แก้ปัญหาเชิงระบบในการที่พื้นที่ปลูกข้าวกว่า 13,000 ไร่ปนเปื้อนสารแคดเมียมโดยปลูกพืชไม้ดอก พืชที่ใช้เนื้อไม้ แทนการปลูกข้าวและพืชห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมองผลกระทบระยะยาวที่อาจมีผลต่อการส่งออกของข้าวไทย การทำงานเรื่องนี้ได้มีระบบข้อมูลสุขภาพ การแก้ปัญหา  การได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจนเป็นที่ศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศมากกว่าสี่แห่ง และกับมหาวิทยาลัยคานาซาวาของประเทศญี่ปุ่น

          นายแพทย์วิทยามีผลงานทางวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่ทั้งในวารสารในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 100 เรื่อง และเป็นงานวิจัยที่เป็นผู้นิพนธ์หลักกว่า 80% ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานปรกติ มาเป็น Routine To Research บนพื้นฐานข้อมูลและการปฏิบัติให้เกิด Standard Of  Procedure   แล้วเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบของทำงานสาธารณสุขในหลายๆเรื่องตามที่ได้กล่าวมาแล้วพอสังเขป ผลงานที่ปรากฏจนเป็นที่ยอมรับจึงทำให้นายแพทย์วิทยาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้เป็นวิทยากร ผู้อ่าน ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ กรรมการสอบระบาดวิทยานานาชาติ เป็นต้น

นับได้ว่านายแพทย์วิทยา สวัสวุฒพงศ์ เป็นแบบอย่างของแพทย์ที่ดี มีจริยธรรมสูง เป็นครูที่ดี เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำที่ดี รวมทั้งการดำเนินชีวิตอย่าง



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต