แพทยสภาแถลงข่าวกรณี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้...

: 29 ก.ค. 58     : ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แพทย์สภา


ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงว่า แพทยสภา มีภารกิจ หลักกำกับ ดูแลมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน  ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ที่มีบุตรยากมีบุตรได้โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นั้น ซึ่งเดิมแพทยสภามีประกาศแพทยสภา เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถบังคับใช้กับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์

การมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ค. 2558 นี้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาภาวะ การมีบุตรยากสามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวการณ์มีบุตรยากมีบุตรได้โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เป็นการกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องการมีพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้จะให้ความคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และมีผลบังคับใช้กับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ ที่เข้ามามีส่วนในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ด้วย  ซึ่งขณะนี้แพทยสภา ได้ดำเนินการยกร่างประกาศแพทยสภาในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ฉบับดังนี้

  1. ร่างประกาศแพทยสภาฉบับที่ 1 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งเป็นผู้ให้การบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
  2. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๒ เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
  3. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนำมาใช้ดำเนินการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
  4. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๔ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสร้างการเก็บรักษา การใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน หรือการทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อน
  5. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๕ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อน
  6. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๖ เรื่อง กำหนดมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียมที่ต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย
  7. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๗ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาค
  8. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๘ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยุติข้อตกลงการตั้งครรภ์แทน
  9. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๙ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝาก การรับบริจาค การใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่รับฝากหรือรับบริจาค หรือการทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อนที่รับฝากหรือรับบริจาค เนื่องมาจากการดำเนินการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
  10. ร่างประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๑๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ความยินยอมให้นำอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้ฝาก นำไปใช้ได้หลังจากผู้ฝากตาย



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต