แพทยสภา เตือนแพทย์ระมัดระวังการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทางโซเชียลมีเดีย...

: 18 ม.ค. 59     : แพทยสภา


แพทยสภาเตือน แพทย์ระมัดระวังการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทางโซเชียลมีเดีย

แพทยสภา ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกเตือนแพทย์และสถานพยาบาลต่างในการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อประชาชนทางโซเชียลมีเดีย

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 เวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์  โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นายกแพทยสภา พร้อมด้วย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  และพล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ  คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันแถลงข่าว เนื่องจากปัจจุบันกระแสของการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับศัลยกรรมเพื่อความงาม นับวันจะทวีมากขึ้น ผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลนั้น ต้องระมัดระวังในการที่ผู้อื่นมาเผยแพร่เรื่องการรักษาพยาบาลของตนหรือการดำเนินการในสถานพยาบาลของตน ในโชเชียลมีเดีย เป็นไปในทำนองความสามารถ ความเชี่ยวชาญเกินกว่าความเป็นจริง เพราะข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ที่บังคับใช้กับแพทย์ หมวด 7  การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล ข้อ 36 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องไม่โฆษณาสถานพยาบาล หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาลที่ตนเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะดังต่อไปนี้

1)โฆษณาสถานพยาบาลในทำนองโอ้อวดของสถานพยาบาลนั้น หรือ กิจกรรมอื่นของสถานพยาบาลเกินกว่าที่เป็นจริงส่วนแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระมัดระวังในการที่ผู้อื่นมาเผยแพร่เรื่องการรักษาพยาบาลของตนหรือการดำเนินการในสถานพยาบาลของตนโดยเฉพาะการลงรูปถ่ายต่างๆ ในโชเชียลมีเดีย เป็นไปในทำนองเข้าข่ายโอ้อวดความสามารถ ความเชี่ยวชาญเกินกว่าความเป็นจริง เพราะข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 จะอาจผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ใน หมวด 3 การโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตน ซึ่งมีบทลงโทษทางจริยธรรมตั้งแต่ตักเตือน พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้

และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้มีบทในการอนุญาตให้และห้ามโฆษณาภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล

ในกรณีของสถานพยาบาลมีกฎหมายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายในชั้นของพระราชบัญญัติ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  กล่าวว่าทางกรมฯเป็นผู้ดูแลและให้อนุญาตสถานพยาบาลและคลินิกต่างๆในการโฆษณาซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานโดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 ( พ.ศ. 2546) เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล หากสถานพยาบาลซึ่งรวมทั้งโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษโดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10000บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ จนกว่าจะระงับการโฆษณาดังกล่าว

ส่วนกรณีการห้ามโฆษณาที่สำคัญนั้น เช่น การใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ไม่สามารถกระทำได้ รวมทั้งการโฆษณากิจการสถานพยาบาลหรือการโฆษณาความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพ หรือประสิทธิผลของผู้ประกอบวิชาชีพหรือสรรพคุณของเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานพยาบาลหรือกรรมวิธีการรักษา หรือโรคที่ให้การรักษาหรือเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษาไปในทำนองให้เข้าใจผิด โดยไม่ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพหรือทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง 

พล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร  คณะเจริญ  ในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีนโยบายคุ้มครองประชาชนทางด้านความงามแบบครบวงจรโดยจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยอาศัยผู้ซึ่งดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอันประกอบด้วย สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา ทันตแพทยสภา  สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ดูแลคลินิกต่างๆ ตำรวจ บกปคบ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทำงานร่วมกันเพื่อมาดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ารับบริการสามารถโทรแจ้งได้ที่ สคบ. 1166 ตลอด 24 ชั่วโมง



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต