'โฟเลต' วิตามินวิเศษ ทั่วโลกผสมอาหาร ต้านพิการแรกเกิด ไฉนไทยไร้ก.ม.คุม?...

: 03 ต.ค. 59     : ไทยรัฐออนไลน์


"ขอให้ลูกเกิดมาครบ 32 นะ... ประโยคอวยพรที่แสนจะเบสิก แต่ทว่ากลับเปี่ยมไปด้วยความวิตกกังวลจากผู้เป็นแม่ ...


เพราะเมื่อไรที่ความโชคร้ายมาเยือน ทารกที่ออกมาลืมตาดูโลก มีอวัยวะบางส่วนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือขาดหายไป จนกลายเป็นเด็ก "พิการแต่กำเนิด" แน่นอนว่าช่วงเวลาที่ผู้เป็นแม่เฝ้ารอมาตลอด 9 เดือน เพื่อหวังจะได้เห็นหน้าลูกน้อยในวันนี้ ภายใต้รอยยิ้มนั้น คงผสมปนเปไปด้วยความรู้สึกทุกข์ใจอยู่ไม่น้อย 

แน่นอนว่า คงไม่มี "แม่" คนไหนที่อยากสัมผัสกับความรู้สึกแบบนี้... รายงานพิเศษชิ้นนี้ กำลังจะบอกผู้หญิงทุกคนว่า ภาวะพิการแต่กำเนิด นั้น ป้องกันได้! หากคุณเคยได้ยินหรือรู้จักกับวิตามินตัวนี้ "โฟเลต" หรือ "โฟลิกแอซิด" (Folic Acid) 

ก่อนจะไปทำความรู้จักว่าวิตามินตัวนี้ ดีอย่างไร และจำเป็นแค่ไหนที่ผู้หญิงทุกคนต้องกินขอเกริ่นความจริงที่น่าตกใจให้ฟังว่า จากข้อมูลทั่วโลก ตรงกันว่า อัตราเด็กพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงทุกประเภทรวมกัน ประมาณ 3 ใน 100 คน นั่นหมายถึงว่า หากเทียบกับสถิติเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย กว่า 800,000 คนต่อปี จะพบเป็นเด็กพิการรุนแรงแต่กำเนิดมากเกือบ 30,000 คนต่อปีเลยทีเดียว ... ฉะนั้น ภาวะพิการแต่กำเนิด จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน

สถิติเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย กว่า 800,000 คนต่อปี พบเป็นเด็กพิการ 3 ใน 100 ต่อปี


"พิการแต่กำเนิด" ภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน!

แม้ในทางการแพทย์จะระบุว่า ภาวะความพิการแต่กำเนิดส่วนหนึ่งมักเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นพันธุกรรมของบรรพบุรุษสักรุ่นหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่โดยตรงเสมอไป หรือเป็นพันธุกรรมที่หลบซ่อนอยู่ในพ่อหรือแม่ จนถ่ายทอดสู่ลูกก็ตาม แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากที่มารดามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอกอฮอล์ รวมถึงไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอขณะก่อนและหลังตั้งครรภ์

นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เผยว่า หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่มีทางที่จะเกิดกับตัวเอง เพราะครอบครัวไม่มีประวัติพิการ แต่ในทางการแพทย์ กลับพบว่า ส่วนใหญ่เด็กที่พิการแต่กำเนิด แทบไม่มีประวัติครอบครัวเลย เนื่องจากเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่เป็นพันธุกรรมที่หลบซ่อนอยู่ของพ่อหรือแม่ จนกลายเป็นความพิการในลูก ดังนั้น แม้ไม่มีประวัติพิการในครอบครัว ก็มีโอกาสที่ลูกจะเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดได้ ทุกคนมีความเสี่ยง

"ปัจจุบันปัญหาความพิการแต่กำเนิดรุนแรงมากขึ้น เพราะแต่ละปีมีเด็กพิการรุนแรงแต่แรกเกิด ถึงร้อยละ 3-4 อาทิ โรคหัวใจพิการ ผนังกั้นหัวใจรั่ว ปากแหว่งเพดานโหว่ ผนังหน้าท้องไม่ปิด มือเท้าพิการ และอวัยวะภายในพิการ ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว"

ขณะเดียวกัน ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสาขามนุษย์พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า การเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ มาจากสาเหตุปัจจัยมากมาย อาทิ พันธุกรรม การติดเชื้อ สารเคมี เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมถึงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้น หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ทุกคน มีความเสี่ยงที่จะมีลูกพิการแต่กำเนิดเท่ากัน


"โฟลิกแอซิด"วิตามินวิเศษ ป้องกันทารกพิการแรกเกิดได้ถึง 50%

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความพิการแต่กำเนิด ส่วนใหญ่มาจาก พันธุกรรม นั่นหมายถึงว่า ป้องกันไม่ได้งั้นหรือ นพ.พิชิต อธิบายต่อว่า แม้ตัวอ่อนจะมีพันธุกรรมที่มีโอกาสพิการ แต่ถ้าได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะวิตามินบี 9 หรือที่เรียกว่า โฟเลต หรือโฟลิกแอซิด (Folic Acid) ซึ่งมักจะพบได้ในไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แครอต แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่ว หรือในรูปยาเม็ด เช่น โฟลิกแอซิด ขนาด 5 มิลลิกรัม หรือยาเม็ดไตรเฟอร์ดีน ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ จนไปถึงช่วงตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน ก็จะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 20-50% 

"การป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะพิการแรกเกิด จาก 3-4% ให้ลดลงเหลือ 1.5-2% ซึ่งหากเทียบกับสถิติเด็กไทยเกิดประมาณ 800,000 คนต่อปี นั่นเท่ากับว่า การป้องกันด้วยโฟเลตอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ก่อนตั้งครรภ์ สามารถลดจำนวนเด็กพิการลงไปได้ถึงปีละ 15,000 คนเลยทีเดียว"


ทำความรู้จัก "โฟลิกแอซิด" ดีอย่างไร ไฉนหญิงไทยจำเป็นต้องกิน

ขณะเดียวกัน ศ.นพ.วรศักดิ์ อธิบายถึงประโยชน์ของ "โฟลิกแอซิด" ให้ฟังว่า หากมารดามีโฟเลตต่ำกว่ามาตรฐาน สารดีเอ็นเอจะไม่เพียงพอต่อการสร้างเซลล์เนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ของทารกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาก็จะเสี่ยงต่อความพิการ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการ ความผิดปกติของระบบสมองและประสาท และภาวะหัวใจพิการ เป็นต้น

"ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่มีโอกาสตั้งครรภ์ ควรกินวิตามินโฟเลต หรือโฟลิกแอซิด ทุกวัน วันละ 1 เม็ด ในปริมาณที่ร่างกายต้องการอย่างเหมาะสม คือ 0.4 มิลลิกรัม หรือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ที่สำคัญ จะต้องรับประทานในระยะช่วงก่อน 6 สัปดาห์ หรือ 1-2 เดือนก่อนตั้งครรภ์ จนถึงตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน แต่หากยังไม่ตั้งครรภ์ก็ให้กินต่อไปเรื่อยๆ ก็สามารถลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดลงไปได้ 25-50% ลดความพิการของแขนขาลงได้ประมาณ 50% ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนักได้ 1 ใน 3 และลดโอกาสการเกิดปากแหว่งลงไปได้ประมาณ 1 ใน 3


ทั้งนี้ ประธานสาขามนุษย์พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ยังเผยเรื่องราคาอีกว่า ปัจจุบันยาเม็ดโฟลิกแอซิดที่จำหน่ายในประเทศไทย ขนาด 5 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 9 สตางค์ เฉลี่ยไม่เกิน 3 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง แต่หลังจากเดือนตุลาคมนี้ กำลังจะขึ้นราคาเป็นเม็ดละ 20 สตางค์ เฉลี่ยตกเดือนละ 6 บาท ซึ่งก็ยังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ

"อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายจะต้องการโฟเลตเพียง 0.4 มิลลิกรัม ก็ไม่ต้องกังวล เพราะโฟลิกแอซิดขับออกทางปัสสาวะ ไม่มีพิษ และไม่สะสมในร่างกายแม้จะทานในปริมาณมาก"


70 กว่าประเทศทั่วโลก! มุ่งพัฒนาประชากร ออก ก.ม. ผสมโฟเลตในอาหาร ป้องกันทารกพิการแรกเกิด

นอกจากนี้ ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โฟลิกแอซิด ป้องกันความพิการแต่กำเนิด ได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนปราศจากข้อสงสัย ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการออกกฎหมายบังคับให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่คนอเมริกันกว่า 300 ล้านคน ทานเป็นประจำทุกวัน เช่น อาหารพวกซีเรียล ขนมปัง ต้องผสมโฟลิกแอซิดในปริมาณสูง มาตั้งแต่ปี 2541 โดยไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือคนชรา ก็ต้องรับประทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขสถิติเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดของคนอเมริกาลดลงเยอะมาก ทำให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีและมีคุณภาพจำนวนมาก

กระทั่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ทานโฟลิกแอซิด และออกคำแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟลิกแอซิด ซึ่งปัจจุบันนี้มีมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่มีการออกกฎหมายบังคับให้ผสมโฟลิกแอซิดในอาหารประจำวัน เพื่อลดความพิการแต่กำเนิด


แต่... ไฉนไทยยังไร้ ก.ม. ผสมโฟลิกแอซิดในอาหาร ต้านทารกพิการแต่กำเนิด

มาถึงตรงนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วประเทศไทย ทำไมถึงไม่สามารถผลักดันกฎหมายให้ผสมโฟลิกแอซิดในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นเดียวกับหลายประเทศได้ ศ.นพ.วรศักดิ์ ตอบผู้สื่อข่าวอย่างทันท่วงทีว่า "นั่นน่ะสิครับ" ก่อนจะขยายความต่อไปว่า ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามรณรงค์แพร่สิทธิรับรู้ถึงประโยชน์วิตามินโฟลิกแอซิด ป้องกันความพิการทารกแต่แรกเกิด รวมถึงได้ร่วมกันผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับออกมาตลอดกว่า 10 ปี แต่ก็ทำได้เพียงรณรงค์และผลักดันเท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา

สอดคล้องกับ นพ.พิชิต ที่ตอบในประเด็นนี้ด้วยว่า เมื่อปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศตอบสนองคำแนะนำ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยประกาศเป็นโครงการ "ลูกครบ 32 สมองดี เริ่มต้นที่ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ด้วยโฟลิกแอซิด พร้อมทั้งไอโอดีนและธาตุเหล็กด้วย ซึ่งแถลงข่าวออกสื่อใหญ่โต แต่สุดท้ายโครงการดังกล่าวก็ชะงักเงียบหายไป โดยที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาอีกเลย 

"แม้แต่การรณรงค์แพร่สิทธิประโยชน์ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องโฟลิกแอซิด ป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด ก็ไม่เคยมีออกมาให้เห็น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากว่า หลายประเทศทั่วโลกต้องการพัฒนาบุคลากรของประเทศเขา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องทุกข์ทรมาน และไม่ต้องมีลูกพิการไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความรู้ที่ทั่วโลกรับรู้กันมานาน จนได้ผลดีทีเดียว แต่...ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก ดูได้จากคนที่ป้องกันถูกต้องจริงๆ ไม่ถึง 0.3% ด้วยซ้ำ นพ.พิชิต กล่าว


สำหรับการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ยังคงเป็นความหวังสูงสุดที่จะลดความทุกข์ทรมานของประชาชนจำนวนมาก หากเราปล่อยให้เกิดทารกพิการแต่กำเนิด ทั้งที่สามารถป้องกันได้ ก็จะเป็นผลตามมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวง เป็นความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติและความสูญเสียทางจิตใจของเด็กและพ่อแม่ อย่างไม่อาจประเมินค่าได้

"ดังนั้น มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ การบังคับให้ผสมในอาหาร เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกทำกันอยู่ ซึ่งก็ต้องเป็นโจทย์ให้ผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบอย่างกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำการศึกษาว่า จะสามารถนำสารโฟเลตไปเติมในวัตถุดิบทำอาหารอะไรได้บ้าง และคนไทยได้รับประทานในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ข้าวสาร น้ำปลา แต่จะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนแบบทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของประชาชน" นพ.พิชิต แสดงทรรศนะ


อธิบดีกรมอนามัยชี้ ยังไม่ต้องถึงขั้นออก ก.ม. บังคับ ผสมโฟเลตในอาหาร

อย่างไรก็ตาม ฟันเฟืองสำคัญ อย่าง กระทรวงสาธารณสุข จะว่าอย่างไร ยังติดปัญหาอะไร เหตุไฉนประเทศไทยถึงยังไม่สามารถผลักดันกฎหมายให้ผสมโฟเลตในอาหารเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกได้ ...

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ตอบอย่างทันควันว่า "คงยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น" พร้อมขยายความให้ฟังว่า "เนื่องจากการรณรงค์และส่งเสริมเรื่องโฟลิกแอซิด ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิดนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขเน้นป้องกันปัญหาโลหิตจางเป็นอันดับแรก เพราะจากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 40 ของหญิงตั้งครรภ์มีอาการตัวซีด ซึ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญา (ไอคิว-IQ) ของทารกในครรภ์ ดังนั้น หากหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนมีความสมบูรณ์ ทารกที่จะคลอดออกมาก็จะไม่พิการแต่กำเนิด ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจจะไม่รวดเร็วทันใจนักเท่านั้นเอง"


"ยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รณรงค์เผยแพร่ความรู้เป็นสาธารณะมากนัก แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาทางกรมอนามัยเน้นรณรงค์และส่งเสริมในเป้าหมายเฉพาะเท่านั้น อาทิ สถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ในการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนได้รับบริการวิตามินโฟลิกแอซิดอย่างเพียงพอ"

โดย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน สามารถใช้สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท เข้ารับวิตามินโฟลิกแอซิดตามโรงพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่อาจจะมีโรงพยาบาลในชุมชน ตำบล บางแห่งอาจจะยังกระจายตัวไปไม่ถึง ซึ่งคาดว่าในอนาคตก็คงต้องเป็นมาตรการบังคับให้มีในโรงพยาบาลและสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในการป้องกันลูกพิการแต่กำเนิดด้วยโฟลิกแอซิด"

แม้ว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายผสมโฟลิกแอซิดในผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างหลายๆ ประเทศทั่วโลก รายงานพิเศษชิ้นนี้ก็จะย้ำกับผู้อ่านอีกครั้งว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะป้องกันไม่ให้ลูกพิการแต่กำเนิดได้ ด้วยการรับประทานโฟลิกแอซิด อย่างน้อยก่อนตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ ย้ำ ก่อนตั้งครรภ์! ..."

... ยุคปัจจุบัน คนไทยเกิดน้อยลง แน่นอนว่า คุณภาพประชากร จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง!

เพราะเมื่อไรที่มี 1 ชีวิตใหม่เกิดขึ้น ชีวิตนั้น ต้อง สมบูรณ์ ที่สุด ...

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต