ข้อควรระวังในการให้บริการโทรเวช (Telemedicine)

: 09 ก.พ. 61     : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา


ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตอบสนอง และ โดนใจผู้ใช้งานอย่างมาก ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากหันมาเลือกพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินการทางด้านการแพทย์ ในลักษณะของ โทรเวช * หรือ Telemedicine ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหา ความหนาแน่นของจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันในสถานพยาบาลของรัฐ ไม่ว่าจะในเขตเมืองหรือต่างจังหวัด ลดเวลาในการเตรียมตัว เดินทาง และรอคอยในการใช้บริการสุขภาพแต่ละครั้ง

แนวคิดในการให้บริการทั้งภาครัฐและเอกขน ในบริการโทรเวช จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการที่แพทย์จะมีส่วนร่วมในฐานะผู้ให้บริการ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และแพทย์มีความรับผิดชอบเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ ขณะเดียวกัน แพทย์ที่ดำเนินการทางเวชกรรมผ่านระบบโทรเวช ก็มีความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากการที่มิได้ทำการตรวจผู้ป่วยหรือขอคำปรึกษาโดยตรง ทำให้มีข้อจำกัดของข้อมูลในการให้คำปรึกษาปัญหาในการให้บริการโทรเวชดังกล่าว ถือเป็นความท้าทายของทุกประเทศที่ใช้ระบบโทรเวช

แพทยสภาได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากต่อการเข้าใจผิดจากการสื่อสารที่มีข้อจำกัด ในการให้คำปรึกษาทางไกล จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้สื่อสารสนเทศทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้มีความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดกับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้รับบริการหรือผู้ป่วย แต่เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลากหลาย และมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อความรอบคอบ

ในระหว่างที่แพทยสภากำลังจัดทำคู่มือและแนวทางการให้คำปรึกษาทางไกล รวมถึงปรับปรุงกฏหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้แพทย์ทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษาทางไกลต่างๆ โปรดใช้วิจารณญาณด้วยความรอบคอบ

* สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๕ / เรื่องที่ ๘ แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ / โทรเวช



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต