ข้อเสนอแนะการดูแลดวงตาจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยจากกรณีการติดถ้ำของทีมหมูป่าอคาเดมี่...

: 11 ก.ค. 61     : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา


ข้อเสนอแนะการดูแลดวงตาจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยจากกรณีการติดถ้ำของทีมหมูป่าอคาเดมี่

จากสถานการณ์ติดถ้ำของทีมหมูป่าอคาเดมี่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ประสบภัยต้องติดอยู่ภายในถ้ำซึ่งมีสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างจากสภาวะภายนอกถ้ำในหลายด้าน ทั้งในเรื่องภาวะพร่องออกซิเจน, อุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ และที่สำคัญคือภาวะที่ผู้ประสบภัยต้องอยู่ภายในความมืดเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตาของผู้ประสบภัยเมื่อออกมาภายนอกถ้ำ

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยจึงขออธิบายในเรื่องการปรับตัวของดวงตาเมื่ออยู่ในภาวะมืดเป็นเวลานานและแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อการดูแลสุขภาพตาของผู้ประสบภัยและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความสว่างรอบตัว ดวงตาของเราก็จะมีการปรับตัวเพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้นทั้งในที่มืดและที่สว่าง โดยเมื่อเข้าสู่ที่มืด เช่นตอนที่ผู้ประสบภัยอยู่ภายในถ้ำ ดวงตาจะมีการปรับตัวเพื่อให้มองเห็นในที่มืดได้ดี รูม่านตาจะขยายขึ้น เพื่อให้แสงเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้น เซลล์รับภาพที่จอตาชนิดกรวย ทำการมองเห็นในที่สว่างทำงานลดลง แต่เซลล์รับภาพชนิดแท่ง ซึ่งช่วยในการมองเห็นในที่มืดทำงานได้ดีขึ้น ดังนั้น ในช่วงแรกที่ผู้ประสบภัยเข้าไปภายในถ้ำ ช่วงแรกจะยังมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว เปรียบเสมือนเราเข้าไปในโรงภาพยนต์ในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์รับภาพชนิดแท่งทำงานได้ดีขึ้น ก็จะมองเห็นชัดขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยออกมาจากถ้ำ มาสู่สภาวะแวดล้อมที่สว่างขึ้น ดวงตาจะมีการปรับตัวเพื่อให้มองเห็นในที่สว่างได้ดีขึ้น ในภาวะนี้เซลล์รับภาพชนิดกรวยจะทำงานมากขึ้น ส่วนเซลล์รับภาพชนิดแท่งจะทำงานลดลง รวมไปถึงม่านตาจะหดลง เพื่อไม่ให้แสงสว่างเข้าดวงตามากเกินไป โดยการปรับตัวนี้ช่วงแรกถ้าผู้ประสบภัยเจอแสงที่สว่างมากทันทีอาจทำให้มองเห็นทุกอย่างเป็นสีขาวหรือมองเห็นแสงแตกไม่สามารถระบุรายละเอียดของภาพได้ แต่หลังจากนั้นจะมีการปรับตัวของดวงตาในเวลาไม่นาน การมองเห็นจะกลับมาเป็นปกติ

นอกเหนือจากนี้ อนามัยภายในถ้ำที่ไม่ปกติ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะตาอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ผู้ประสบภัย (ทีมหมูป่าอคาเดมี่) สิ่งที่ควรทำ

  • ควรอธิบายภาวะทางการมองเห็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อเปลี่ยนจากอยู่ในที่มืดมาที่สว่าง ในระยะเวลารวดเร็วเพื่อผู้ประสบภัยจะได้ไม่ตื่นตระหนกกับการปรับตัวของร่างกาย ซึ่งโดยส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
  • ควรเตรียมแว่นกันแดดหรือแว่นกรองแสงให้ผู้ประสบภัยใส่ก่อนออกมาภายนอกถ้ำ เนื่องจากว่าผู้ประสบภัยอยู่ในสภาวะที่มืดมาเป็นเวลานาน อาจทำให้การปรับตัวของดวงตาช้ากว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถสู้แสงจ้าได้ในช่วงแรก การค่อยๆปรับเพิ่มให้แสงเข้าสู่ดวงตาจะช่วยให้รู้สึกสบายตาขึ้น
  • ถ้าผู้ประสบภัยมีอาการไม่สบายตาเคืองตา สามารถให้น้ำตาเทียมหยอดเบื้องต้นได้ และหากอาการไม่ดีขึ้นหรือปวดตามากควรส่งพบจักษุแพทย์ทันที
  • ควรส่งตรวจตากับจักษุแพทย์เมื่อพ้นจากภาวะวิกฤติ และสภาพร่างกายพร้อม เพื่อตรวจประเมินระดับการมองเห็น ตรวจกระจกตา และจอประสาทตา เนื่องจากว่าการอยู่ในสภาวะที่มืดเป็นเวลานานร่วมกับการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ อาจมีผลกระทบต่อดวงตาได้ สิ่งที่ไม่ควรทำ
  • ไม่ควรให้ผู้ประสบภัยเจอกับแสงสว่างจ้าในทันที
  • ไม่แนะนำให้ใช้น้ำจากแหล่งต่างๆล้างตา เนื่องจากว่าอาจทำให้เกิดภาวะตาติดเชื้อได้ ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหรือน้ำเกลือปลอดเชื้อล้างตาเท่านั้น

หน่วยงานที่ต้องเข้าไปภายในถ้ำหรือต้องดำน้ำ

    สิ่งที่ควรทำ

  • ควรสวมแว่นตากันน้ำตลอดเวลาเมื่อต้องดำน้ำ
  • สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • ไม่แนะนำให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำล้างตา ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียม หรือน้ำเกลือปลอดเชื้อล้างตาเท่านั้น

การอธิบายการเปลี่ยนแปลงของร่ายกายและให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อดวงตา จะช่วยให้ผู้ประสบภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อออกมาจากถ้ำ นอกจากนี้ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดเมื่อร่างกายพร้อม และควรตรวจติดตามสุขภาพตาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ให้ได้รับสารอาหารและน้ำที่พอเพียง

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การดูแลสุขภาพตาให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอรวมทั้งการได้สารอาหารที่เพียงพอจะทำให้ดวงตามีความพร้อมในการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น แม้ในสภาวะปกติ ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความบอบบางแต่มีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องใช้ดวงตาอย่างเหมาะสม ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป และพึงหลีกเลี่ยงการใช้สมาร์ทโฟนในที่มืดติดต่อกันเป็นเวลานานซึ่งอาจเกิดผลเสียกับสุขภาพดวงตาได้เช่นกัน


ผู้เขียนบทความ แพทย์หญิงลิสา ฉัตรสุทธิพงษ์ และรศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์

รับรองโดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต