ก่อน อาสาไป สปป.ลาว ..แพทยสภาชวนอ่านที่นี่ก่อน

: 26 ก.ค. 61     : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา


คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย อาสาสมัคร และผู้ที่จะปฎิบัติงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากเหตุการณ์เขื่อนแตกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ประสบเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่แขวงอัตตาปือทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ กินอาณาบริเวณกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก นานาประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้เตรียมพร้อมที่จะส่งความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆเพื่อบรรเทาสาธารณภัยครั้งนี้ สมาคมเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นสมาคมวิชาการทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว มีความห่วงใยเจ้าหน้าที่กู้ภัย อาสาสมัคร และผู้ที่จะปฎิบัติงานชาวไทยที่อาจจะเดินทางเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ จึงออกคำแนะนำด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างเข้าไปปฏิบัติงานดังนี้

  1. อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถว่ายน้ำได้ และควรสวมเชื้อชูชีพขณะเดินทาง หรือลงเรือเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นประสบอุทกภัย ถ้าเป็นไปได้ควรมีประวัติการได้รับวัคซีนตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยครบ
  2. ระมัดระวังอย่าให้ยุงและแมลงสัตว์กัดต่อย เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยดังกล่าวอาจมียุงหรือแมลงพาหะ ทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้ไรอ่อน ดังนั้นควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด
  3. ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท และหลังสัมผัสน้ำขัง ควรล้างมือล้างขาให้สะอาดด้วยสบู่ เพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง และถ้ามีบาดแผลควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์หรือเบตาดีน และควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
  4. ควรดื่มน้ำสะอาดและกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  5. หากมีอาการผิดปกติใดๆ หลังจากช่วยผู้ประสบอุทกภัยควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบเสมอ

รศ.นพ.พรเทพ จันทวานิช* 26 กค.61

*กรรมการฝึกอบรมและสอบสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว แพทยสภา

*ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

*นายกสมาคมเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวไทย (Thai Society of Travel Medicine)



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต