แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิตและกรมควบคุมโรค ร่วมกับ 5องค์กรวิชาชีพสื่อ จัดโครงการตรวจสุขภาพและการเสวนาหัวข้อ "ถอดบทเรียนสุขภาพจากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง"...

: 06 ส.ค. 61     : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา


แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิตและกรมควบคุมโรค ร่วมกับ 5องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วยสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย /สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย /สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ /สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย /ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพ จัดโครงการตรวจสุขภาพและการเสวนาหัวข้อ "ถอดบทเรียนสุขภาพจากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง"

วันนี้ ( 4 สิงหาคม 2561) เวลา 9.30 น. ณ ห้องอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการตรวจสุขภาพและการเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนสุขภาพจากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย"

นพ.สุวรรณขัย ฯกล่าวว่า ปรากฏการณ์การกู้ภัยที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่ได้รวบรวมความหลากหลายของผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง พลเรือน อาสาสมัครทั้งในประเทศและจากนานาชาติ รวมทั้งในส่วนของงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้ประกอบกันเป็นทีมทำงานที่มหัศจรรย์ ประสานสอดคล้องบทบาทและหน้าที่กันได้เป็นอย่างดีจนเป็นผลสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ เป็นความประทับใจในความสามัคคีของทีมไทยและทีมนานาชาติ จนเป็นที่ชื่นชมอย่างมากของทั้งประชาชนคนไทยและจากคนทั่วโลกที่ต่างเฝ้าตามดูข่าว ซึ่งบทบาทของสื่อมวลชนในปฏิบัติการถ้ำหลวงฯ คราวนี้นั้น ก็เป็นที่ชื่นชมของทีมปฏิบัติการ โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้ออกปากชมด้วยว่า พี่น้องสื่อมวลชนให้ความร่วมมือดีมาก น่ารักมากเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติการถ้ำหลวงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการระบบการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ระหว่างช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติการ จัดบริการทางด้านการแพทย์สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกท่าน จัดเตรียมทีมรับส่งเพื่อการบริการรักษาน้องๆ ทีมหมูป่าและโค้ช และหน่วยซีล(SEAL) ที่ได้เข้าไปอยู่ในถ้ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะการที่มนุษย์เราต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำที่มีสภาพแวดล้อมต่างออกไป มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อที่เราไม่เคยเจอมาก่อนจากสัตว์และสิ่งแวดล้อมในถ้ำนั้น รวมทั้งสภาพจิตใจของผู้ปกครองที่รอคอยฟังข่าวและสภาพจิตใจของน้อง ๆ ที่อยู่ภายในถ้ำที่มีความเครียด ความกลัว เป็นตัวกระตุ้นที่จะทำให้มีความผิดปกติของสภาพจิตใจ ทำให้การจัดบริการด้านการแพทย์ต้องมีการเตรียมการเป็นพิเศษ ด้วยทีมแพทย์ทั้งด้านทางกายและทางจิตที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการรับมือภาวะในลักษณะนี้ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและจากมหาวิทยาลัย ที่ได้ผนึกกำลังกันในปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้ภารกิจด้านการแพทย์ฯ ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ที่สำคัญต้องขอชื่นชมพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันนำเสนอข่าวในส่วนของข้อมูลการดูแลสุขภาพอนามัยของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลเป็นอย่างดีก่อนการนำเสนอ ทำให้การสื่อสารออกไปสู่พี่น้องประชาชนไม่เกิดความสับสน และข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพนั้นได้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความเจ็บป่วยของผู้ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นั้นลงไปได้อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า มีเจ้าหน้าที่และพี่น้องสื่อมวลชนที่เกิดอาการเจ็บป่วยน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนและจำนวนวันที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่องกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจรวมทั้งการสื่อสารมวลชนอย่างต่อเนื่องในช่วงการนำน้อง ๆ ออกมาจากพื้นที่ประสบภัย ให้พวกเราได้ชื่นชมการทำงานของทีมกู้ภัยแบบนาทีต่อนาที

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า

สื่อเป็นภาคส่วนที่มีความหมายต่อสังคมมากเพราะว่าเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ต่อสังคม ดังนั้นทางการแพทย์ถือว่า สื่อเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ของประเทศชาติ ทั้งเชิงป้องกันและรักษา ดังนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการดูแลสุขภาพของสื่อให้อยู่ดีมีความสุข เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่กับสังคม เป็นความภูมิใจของแพทยสภาที่ได้เห็นการทำงานของสื่อที่ปฏิบัติงานที่ถ้ำหลวงและความมีน้ำใจจำนวนมาก มีจิตอาสาเข้าพื้นที่ช่วยเหลือกัน วันนี้จึงได้เชิญชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมโรคและกรมสุขภาพจิตเข้ามาร่วมในวงเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าวงการสื่อและวงการแพทย์มีการบูรณาการเพื่อสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน

ภาพกิจกรรม



Copyright © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์โดยแพทยสภา ห้ามทำการลอกเลียน ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกจากจะได้รับอนุญาต