ประวัติความเป็นมาของแพทยสภา
วิสัยทัศน์แพทยสภา
เป็นสภาวิชาชีพที่ผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม มุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานด้านสุขภาพของประชาชน
พันธกิจแพทยสภา
เป็นสภาวิชาชีพที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พัฒนามาตรฐาน การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ชี้นำสังคมด้านสุขภาพอย่างมีระบบ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแพทย์และประชาชน โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม
แพทยสภาถือกำเนิดขึ้นจากพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 91 หน้า 690 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2511 และวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม 2511 และแม้ว่าต่อมา พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 จะถูกยกเลิกไปโดย พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ก็ตาม ในมาตรา 45 ของ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ให้คงเป็นแพทยสภาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะฉะนั้นแพทยสภาในปัจจุบันจะมีอายุครบ 39 ปี ในวันที่ 9 ตุลาคม 2550
ต้นกำเนิดของแพทยสภาคือสภาการแพทย์
กฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉบับแรกในประเทศไทยคือ พระราชบัญญัติการแพทย์พุทธศักราช 2466 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้มีองค์กรการควบคุมการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับการแพทย์ขึ้น เรียกว่า "สภาการแพทย์" และประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับการแพทย์นั้นตามกฎหมายฉบับนั้นเรียกว่า "การประกอบโรคศิลปะ"
รูปแบบของสภาการแพทย์ดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้มีฐานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชากรมสาธารณสุข ซึ่งได้แก่กระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขมีฐานะเป็นกรมเช่นเดียวกัน)
ดังนั้นสภาการแพทย์จึงมีฐานะทางราชการเท่ากับกรมสาธารณสุข มีลักษณะเป็นส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย และไม่เปิดโอกาสให้มี “สมาชิก” เข้าสังกัดเพราะในกฎหมายไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องของสมาชิกไว้เลย หากจะเปรียบเทียบกับเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2457 แล้วจะเห็นว่า เนติบัณฑิตยสภาตามพระราชโองการนั้นมีสมาชิกได้หลายประเภท โครงสร้างของสภาการแพทย์กับเนติบัณฑิตยสภาจึงมีข้อแตกต่างกันอยู่
ต่อมาในพ.ศ. 2497 ได้มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 โดยยกเลิก พระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 และตามที่ประกาศใช้ใหม่นี้บัญญัติให้มีองค์การประกอบโรคศิลปะขึ้นใหม่เรียกว่า "คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ" แทนสภาการแพทย์ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติที่ยกเลิกไปจึงเป็นอันว่า "สภาการแพทย์" ได้สิ้นสภาพลงใน พ.ศ. 2497 นั่นเอง
เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 นั่นก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 พร้อม ๆ กันไปด้วย
(คือ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2511) และจากผลของ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ทำให้ :
1. พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม ชั้นหนึ่ง ถูกยกเลิกไป
2. ผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมชั้นหนึ่ง กลายสภาพเป็นสมาชิกของแพทยสภา โดยมิต้องสมัคร
3. ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม ชั้นหนึ่ง กลายสภาพเป็นใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ดังนั้นผู้ที่เคยขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะจากสภาการแพทย์เดิม จะกลายสภาพเป็น สมาชิกแพทยสภา และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ด้วย เหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของแพทยสภาคือสภาการแพทย์ใน พ.ศ. 2466 นั่นเอง
ผู้ให้กำเนิดแพทยสภา
ภายหลังที่ประกาศใช้ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ได้ไม่นาน ก็ได้มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมขึ้น เสนอไปยังรัฐบาลแต่มีอุปสรรคบางประการที่ไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ และประกอบกับในขณะนั้นพระราชบัญญัติครูพุทธศักราช 2488 ซึ่งกำหนดให้มี "คุรุสภา" ขึ้นได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487 (และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามตราเป็น พระราชบัญญัติในวันที่ 9 มกราคม 2488) ก็ยิ่งทำให้ความพยายามจะผลักดันให้มีแพทยสภาย่อมมีเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แม้กระทั่งจนถึง พ.ศ.2507 คณะกรรมการแพทยสมาคมฯ ได้พิจารณาให้มีการศึกษาการจัดตั้งแพทยสภาขึ้นก็ตามไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการอย่างไร
ต่อมาใน พ.ศ. 2509 ได้มีคณะกรรมการแพทย์ระดับบริหารเกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่นที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับแพทย์อีกหลายท่าน คือประธานคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) เลขาธิการนายทะเบียนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค กรมการแพทย์ กรรมการฝ่ายแพทย์ใน ก.พ. เจ้ากรมแพทย์ทหารบก
นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ หัวหน้ากองแพทย์กรมตำรวจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสาธารณสุขเทศบาลนครกรุงเทพฯ นายกแพทยสมาคมฯ
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นกรรมการและเลขานุการ หัวหน้ากองกลางกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังมีคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา การมีคณะกรรมการนี้ก็เพื่อให้มีการปฏิบัติงาน
ประสานงาน และร่วมมือกันในทางการแพทย์และในการประชุมคณะกรรมการแพทย์ระดับบริหารครั้งที่ 4/2509 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2509 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสภาการแพทย์
และได้มีมติรับหลักการที่เห็นควรให้มีพระราชบัญญัติแพทยสภาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมมรรยาทของผู้ประกอบโรคศิลปะและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับเนติบัณฑิตยสภา
และให้มีสิทธิ์ในการสอบความรู้ โดยให้การขึ้นทะเบียนยังคงอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขและที่ประชุมได้ตั้งอนุกรรมการขึ้น ประกอบด้วย
1. นายแพทย์สงกราน นิยมเสน
2. พลตำรวจตรีแสวง วัจนะสวัสดิ์
3. นายแพทย์สนอง อูนากูล
4. นายแพทย์เฉก ธนะศิริ
5. นายแพทย์จำรัส ผลผาสุข
6. นายทวี ฤกษ์จำนงค์
7. นายสิริวัฒน์ วิเศษสิริ
และนอกจากตั้งอนุกรรมการดังกล่าว ก็ได้มีการร่างพระราชบัญญัติสภาการแพทย์ขึ้น โดยอาศัยพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 เป็นแนวทางและต่อมาได้มีการเปลี่ยนหลักการบางอย่างมา เป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมการแพทย์ระดับบริหาร เป็นผู้ให้กำเนิดแพทยสภาขึ้นใหม่เพื่อทดแทนสภาการแพทย์เดิม
สมาชิก
มาตรา 11สมาชิกแพทยสภาได้แก่ผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
2. มีความรู้ในวิชาชีพเวชกรรม โดยได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาแพทยศาสตร์ที่แพทยสภารับรอง
3. ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
4. ไม่เคยต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
5. ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา
มาตรา 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังต่อไปนี้
1. ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขอหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสาขาต่าง ๆ หรือขอหนังสือแสดงวุฒิอื่น ๆ ในวิชาชีพเวชกรรม โดยปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการนั้น
2. แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของแพทยสภาส่งไปยังคณะ กรรมการเพื่อพิจารณาและในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับกิจการของแพทยสภา คณะกรรมการต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า
3. เลือก รับเลือก หรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ
4. มีหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 13 สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดเมื่อ
1. ตาย
2. ลาออก
3. คณะกรรมการให้พ้นสภาพสมาชิกภาพ เพราะเห็นว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความ เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามมาตรา 11 (3) หรือ (4)
4. ขากคุณสมบัติตามมาตรา 11 (1) หรือ (5)
วัตถุประสงค์ของแพทยสภา
มาตรา 7 แพทยสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรม
2. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในทางการ แพทย์
3. ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิก
4. ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข
5. ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุข
6. เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย
อำนาจหน้าที่ของแพทยสภา
มาตรา 8 แพทยสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
2. พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
3. รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรใน วิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่าง ๆ
4. รับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์
5. รับรองวิทยฐานะของสถาบันทางการแพทย์ที่ทำการฝึกอบรมใน (4)
6. ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบ วิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ และออกหนังสือแสดงวุฒิอื่น ๆ ในวิชาเวชกรรม
คณะกรรมการแพทยสภา
มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการแพทยสภา” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทางอากาศ นายแพทย์ใหญ่กรมตำรวจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชกอีกจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการโดยตำแหน่งในขณะเลือกต้งแต่ละวาระ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 15 ให้ผู้ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการโดยการเลือกตั้งประชุมกันเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกแพทยสภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง และอุปนายกแพทยสภาคนที่สอง ตำแหน่งละหนึ่งคน
ให้นายกแพทยสภาเลือกสมาชิกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 เพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการหนึ่งคนและเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ และเหรัญญิกอีกตำแหน่งละหนึ่งคน ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมกรรมการ นายกแพทยสภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง และอุปนายกแพทยสภาคนที่สอง ให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้ง และเลขาธิการ รองเลขาธิการ และเหรัญญิก ให้พ้นจากตำแหน่งตามนายกแพทยสภา
รายนามนายกแพทยสภาและเลขาธิการแพทยสภา
นายกแพทยสภา
ชื่อ - นามสกุล | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. นายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว | 2510 – 2510 |
2. นพ.สมบุญ ผ่องอักษร | ก.ค. 2511 - พ.ย. 2513 |
3. นพ.โกมล เพ็งศรีทอง | พ.ย. 2513 - พ.ย. 2514 |
4. ศ.นพ.ประกอบ ตู้จินดา | พ.ย. 2514 - ต.ค. 2525 |
5. นพ.มนัสวี อุณหนันทน์ | ต.ค. 2525 - ก.ย. 2526 |
6. นพ.กมล สินธวานนท์ | ต.ค. 2526 - ม.ค. 2528 |
7. ศ.นพ.อมร นนทสุต | ก.พ. 2528 - ม.ค. 2530 |
8. ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสงค์ ตู้จินดา | ม.ค. 2530 - ม.ค. 2530 |
9. นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ | ก.พ. 2530 - ก.ย. 2531 |
10. ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน | ต.ค. 2531 - ม.ค. 2534 |
11. นพ.ดร.อุทัย สุดสุข | ก.พ. 2534 - ก.ย. 2535 |
12. ศ.(พิเศษ) นพ.ไพจิตร ปวะบุตร | ต.ค. 2535 - ก.ย. 2537 |
13. ศ.เกียรติคุณ นพ.อารี วัลยะเสวี | ต.ค. 2537 - ม.ค. 2538 |
14. พล.ร.ต. ศ.นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว | ก.พ. 2538 - ก.พ. 2540 |
15. ศ.เกียรติคุณ นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ | ก.พ. 2540 - ต.ค. 2541 |
16. ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา | ต.ค. 2541 - ก.พ. 2542 |
17. ศ.เกียรติคุณ นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ | ก.พ. 2542 - พ.ย. 2543 |
18. ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา | พ.ย. 2543 - ม.ค. 2554 |
19. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ | ก.พ. 2554 - ม.ค. 2556 |
20. ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา | ก.พ. 2556 - ม.ค. 2560 |
21. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา | มี.ค. 2560 - ม.ค. 2562 |
22. ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ | ก.พ. 2562 - ปัจจุบัน |
เลขาธิการแพทยสภา
ชื่อ - นามสกุล | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. นพ.กำลูน ปิยะเกศิน | ก.ค. 2511 - พ.ค. 2513 |
2. นพ.จิตต์ เหมะจุฑา | พ.ค. 2513 - พ.ย. 2513 |
3. พล.ต.ต. นพ.แสวง วัจนะสวัสดิ์ | พ.ย. 2513 - ก.พ. 2515 |
4. ศ.เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ | มี.ค. 2515 - เม.ย. 2519 |
5. พ.ต.อ. นพ.ถวัลย์ อาศนะเสน | พ.ค. 2519 - ต.ค. 2525 |
6. ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล | ต.ค. 2525 - ม.ค. 2528 |
7. นพ.สุจิน ผลากรกุล | ก.พ. 2528 - ม.ค. 2530 |
8. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ | ก.พ. 2530 - ก.ย. 2531 |
9. นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ | ต.ค. 2531 - ส.ค. 2533 |
10. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ | ส.ค. 2533 - ม.ค. 2534 |
11. นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ | ก.พ. 2534 - ม.ค. 2536 |
12. นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ | ก.พ. 2536 - ม.ค. 2538 |
13. นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ | ก.พ. 2538 - พ.ค. 2543 |
14. ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน | พ.ค. 2543 - ม.ค. 2546 |
15. ศ.ภิชาน นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ | ก.พ. 2546 - ม.ค. 2550 |
16. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ | ก.พ. 2550 - ม.ค. 2552 |
17. นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ | ก.พ. 2552 - ม.ค. 2560 |
18. นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ | มี.ค. 2560 - ม.ค. 2562 |
19. พล.อ.ท. นพ.อิทธพร คณะเจริญ | ก.ค. 2561 - ปัจจุบัน |
หน่วยงานในกำกับดูแลของแพทยสภา
หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525
FOLLOW US